xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยปีหน้าฟื้นตัวต่อ ย้ำไทยไม่จำเป็นเร่งขึ้นดอกเบี้ย รับบาทผันผวน แนะเอสเอ็มอีป้องกันความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยปีหน้าในภาพรวมยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ลุ้นปัจจัยเสี่ยงกระทบให้การท่องเที่ยวสะดุด ย้ำไทยไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ รับกังวลธนาคารกลางหลักๆ เร่งขึ้นดอกเบี้นสกัดเงินเฟ้อเกินจำเป็นสร้างความปั่นป่วนเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ รับค่าบาทผันผวน แต่ยังไม่มีความผิดปกติของเงินทุน กระตุ้นเอสเอ็มอีทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการเปิดงาน BOT Digital Finance Conference 2022 ถึงทิศทางเศรษฐกิจของไทยว่า ในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกในช่วงกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มองทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้าว่าจะเข้าสู่ภาวะที่ชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อมีความหนืดกว่าที่คิดทำให้ลดลงช้ากว่าที่คาด และระบบการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ธปท.ได้กลับมาประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ซึ่งในภาพรวมแล้วพบว่า กระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะยังมีทิศทางฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

“หากเศรษฐกิจโลกถดถอยสิ่งที่จะกระทบเราก่อนคือ ภาคการส่งออก ซึ่งในปีนี้เราประเมินส่งออกจะขยายตัว 8% ขณะที่ปีหน้าเรามองส่งออกขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งการประมาณการดังกล่าวได้รวมผลกระทบทางลบจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกไว้ค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้น จากที่เราประเมินไว้เดิมว่าปีนี้จะขยายตัวที่ 3.2% ปีหน้าจะขยายตัว 3.8% หากจะมีการลดลงไปบ้างก็ไม่มาก ทิศทางโดยรวมจะยังเป็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยปัจจัยในประเทศนั้นจะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยได้ก็ต่อเมื่อมีอะไรมากระทบให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เพราะแรงขับเคลื่อนหลักที่เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้มากจากการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าน่าจะเข้ามากสูงกว่าในปีนี้”

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งบางประเทศมีสถานะที่อ่อนแอ และอาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยรวม ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วยนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จากการพิจารณาการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงที่ผ่านมา พบว่า แม้จะเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน แต่มีการแยกแยะเสถียรภาพพื้นฐานของเศรษฐกิจแต่ละประเทศค่อนข้างดี ไม่ได้เหมารวมเหมือนในช่วงปี 2540 ทำให้ผลกระทบที่เกิดต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก นอกจากนั้น หากพิจารณาประเทศที่มีความผันผวนของระบบการเงิน และเศรษฐกิจชะลอตัวแรงในขณะนี้ จะเป็นเศรษฐกิจหลักๆ เช่น ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ มากกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ปรับตัวได้ดีกว่า

“ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กลับมาประเมินผลกระทบของโลกต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบในขณะนี้และผลกระทบในระยะข้างหน้า เพื่อที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยในส่วนเศรษฐกิจโลก สิ่งที่กังวล คือ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศหลักๆ ซึ่งอาจจะต้องการเห็นผลเร็วเกินไป ต้องการให้เงินเฟ้อลดลงทันที และต้องการแสดงเครดิตในการต่อสู้เงินเฟ้อ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย เงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจของเราต่างจากเศรษฐกิจใหญ่ ทำให้เรายังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย หรือขึ้นเผื่อไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ เพียงแต่ต้องชัดเจนว่าการขึ้นดอกเบี้ยต้องทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายได้ตามกำหนด และเศรษฐกิจไม่หยุดชะงัก”

ธปท.ยอมรับว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจจะผันผวนกว่าปกติบ้าง แต่ ธปท.ได้ติดตามและหากเป็นไปได้ไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทผันผวนรุนแรง แต่ส่วนหนึ่งความผันผวนของค่าเงินบาทมาจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของ ธปท.ในการควบคุม อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนยังไม่เห็นความผิดปกติ และค่าเงินบาทเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ธปท.เป็นห่วงคือ การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทในส่วนของเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังต่ำกว่าที่ ธปท.หวังไว้มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงยังสูง ซึ่ง ธปท.กำลังพยายามหาทางที่จะลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงลง และเพิ่มผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขัน เพื่อช่วยเอสเอ็มให้สามารถทำประกันความเสี่ยงจากค่าเงินได้มากขึ้น และในอนาคตอยากให้รู้สึกว่าการป้องกันความเสี่ยงเป็นอีกหนึ่งประกันที่ต้องให้ธุรกิจ โดยไม่ได้หวังให้ ธปท.เป็นคนประกันความเสี่ยงค่าเงินให้

“ธปท.มองว่าการให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่ ธปท.ไม่ควรทำคือ การเข้าไปประกันความเสี่ยงให้ทุกคน หรือทำให้ค่าเงินไม่เคลื่อนไหวเลย เพราะเรามีบทเรียนมาตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่ง ธปท.เข้าไปช่วยผู้ประกอบการมากเกินไปจนสะสมความเปราะบางมากขึ้น และกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น