จับตาสัญญาณการค้าระหว่างประเทศเริ่มชะลอหลังปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั้งนำเข้า-ส่งออกเหลือเกินความต้องการ กดดันค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศปรับลง 1.5-3 เท่าตัวสะท้อนโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สภาองค์การนายจ้างชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงฉุด ศก.ไทยปลายปีและต่อเนื่องถึงกลางปีหน้า
นายธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการในเครือบริษัท วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสัญญาณการค้าระหว่างประเทศที่ลดลงจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั้งนำเข้าและส่งออกที่ก่อนหน้านั้นขาดแคลนอย่างรุนแรงแต่ล่าสุดกลับมามีจำนวนเหลือเกินความต้องการ โดยสะท้อนจากค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศ (Freight Charge) ราคาปรับลง 1.5 ถึง 3.0 เท่าทั้งค่าขนส่งไปยุโรป ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ เวียดนาม ฯลฯ จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้และต่อเนื่องไปอย่างน้อยถึงครึ่งแรกปี พ.ศ. 2566
“เรากำลังเข้าสู่อัตราเงินเฟ้อโลก หรือ Global Inflation ที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าสูงทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง แม้แต่ภาคส่งออกของไทยจะได้แต้มต่อจากบาทอ่อนค่าแต่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนมากน้อยแตกต่างกัน อีกทั้งค่าเงินของประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเงินอ่อนค่ามากกว่าไทยส่งผลให้การส่งออกในช่วงปลายปีจะเริ่มชะลอตัว และการขยายตัวส่งออกได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วจากสถานการณ์โลกที่เริ่มดิ่งเหวทำให้คำสั่งซื้อลดลง” นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายไปถึงอย่างน้อยครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2566 มีหลายปัจจัย ได้แก่ 1. ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าทรุดตัวแรงไปถึงถดถอยหนักสุดในรอบ 4 ทศวรรษ คงเป็นเรื่องยากที่จะไม่กระทบถึงไทย 2. โลกเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่จะต่อเนื่องไปถึงปี พ.ศ. 2566 ซึ่งไทยเองก็ยังคงเผชิญกับปัญหานี้อยู่และทำให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคแพงไปจนถึงปีหน้า
3. สภาพคล่องธุรกิจลดลง-หนี้ครัวเรือนสูงและคนจนมีจำนวนมาก โดยในช่วงหนึ่งปีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นถึง 4.92 แสนล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.46 หากถึงสิ้นปีอาจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาท หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างเป็นนัยกับปริมาณคนจนที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนจากการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รัฐสวัสดิการของรัฐหรือ “บัตรคนจน” ช่วงหนึ่งปีเพิ่มจาก 13.65 ล้านคนเป็น 20.105 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 47.25% แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางทางโครงสร้างของไทยที่ประชากรเกือบ 1 ใน 3 เป็นคนจน
4. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมีความผันผวนที่จะอ่อนค่าต่อเนื่อง จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นผลอย่างเป็นนัยกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดย 9 เดือนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนบาทอ่อนค่าถึง 14.33% และมีแนวโน้มที่ยังอ่อนค่า ขณะที่ช่วงต้นปีถึงกลางเดือน ต.ค.ทุนสำรองลดลง 47,937 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 17.4% ในจำนวนนี้เป็นการขาดดุลการค้า 14,137 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงเวลาจากนี้ไปเกี่ยวข้องกับการบริหารทุนสำรองที่ลดลงมากเป็นประวัติการณ์จะสามารถประคับประคองเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเกินจุดความสมดุลได้อย่างไร
“เศรษฐกิจโลกปลายปีนี้ถึงครึ่งปีแรกของปีหน้ามีความเสี่ยงจะชะลอตัวรุนแรง บางประเทศอาจถึงขั้นถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องนำปัจจัยผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ซึ่งจะซ้ำเติมความยากจนและหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีก ดังนั้นองค์กรภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกลไกรัฐจะต้องผลักดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการที่จำเป็นระยะสั้นแบบมีงบประมาณที่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ข้าราชการและหน่วยงานรัฐสามารถนำไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องรอรัฐบาลซึ่งมัวยุ่งอยู่กับเรื่องของตัวเองหรือชิงไหวชิงพริบทางการเมืองเพื่อรอเลือกตั้ง” นายธนิตกล่าว