ส่งออก ส.ค. 65 โตต่อเนื่อง ทำได้มูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.5% บวกติดต่อกัน 18 เดือน เหตุเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว มีการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้หลายสินค้าขายดี มีความต้องการอาหารเพิ่ม และบาทอ่อนส่งผลดีต่อสินค้าเกษตร ส่วนยอดรวม 8 เดือนมีมูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11% “จุรินทร์” ลั่นจะเร่งขับเคลื่อนส่งออกต่อ โดยเฉพาะตลาดใหม่ ส่วนทั้งปียังมั่นใจทำได้เกินเป้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ส.ค. 2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.5% เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 861,169 ล้านบาท ส่วนยอดรวม 8 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 6,635,446 ล้านบาท ส่วนการนำเข้า ส.ค. 2565 มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.3% ขาดดุลการค้า 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 8 เดือน นำเข้ามูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลการค้า 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวจากโควิด-19 กิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขายดีขึ้น ทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้เดินทาง เครื่องสำอาง มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นตามกระแสการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ราคาสินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ดีขึ้น จากค่าบาทที่อ่อนตัวลงมา แต่ก็มีผลบวกลบเพราะใช้เงินมากนำเข้าน้ำมันมากขึ้น แต่สินค้าเกษตรแข่งขันได้ดีขึ้น รวมทั้งมีความต้องการใช้แอร์ เครื่องทำความเย็น จากกระแสคลื่นความร้อนที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ส.ค. 2565 สินค้าเกษตรลดลง 10.3% แต่มีหลายสินค้าที่ขยายตัวได้ดีขึ้น เช่น ไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและไก่แปรรูป เพิ่ม 125.4% ข้าว เพิ่ม 15.3% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 27.6% เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 173.5% ไอศกรีม เพิ่ม 71.2% อาหารสัตว์เลี้ยง ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่ม 25.5% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 18.5% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 14.3% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 9.2% เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 61.1% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 53.6% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 32.8% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 25.1% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 22.5%
สำหรับตลาดที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. CLMV เพิ่ม 41.1% 2. แคนาดา เพิ่ม 39.3% 3. ตะวันออกกลาง เพิ่ม 38.4% 4. สหราชอาณาจักร เพิ่ม 32.2% 5. ละตินอเมริกา เพิ่ม 27.4% 6. ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 19.0% 7. สหภาพยุโรป เพิ่ม 19.0% 8. สหรัฐฯ เพิ่ม 16.3% 9. ญี่ปุ่น เพิ่ม 6.6% และ 10. อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 5.8%
ทางด้านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ส.ค. 2565 มีมูลค่ารวม 154,295 ล้านบาท เพิ่ม 4.5% เป็นการส่งออกมูลค่า 88,234 ล้านบาท ลดลง 3.2% และรวม 8 เดือนมีมูลค่า 682,849 ล้านบาท เพิ่ม 0.1% และหากแยกเฉพาะการค้าชายแดน มีมูลค่าการค้ารวม 91,974 ล้านบาท เพิ่ม 27.5% เป็นการส่งออกมูลค่า 56,849 ล้านบาท เพิ่ม 29.6% รวม 8 เดือน 432,923 ล้านบาท เพิ่ม 21.1% โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการทยอยเปิดด่านเพิ่ม ปัจจุบันเปิดได้แล้ว 69 ด่านจาก 97 ด่าน ส่วนการค้าผ่านแดน เดือน ส.ค. 2565 มีมูลค่า 62,322 ล้านบาท ลบ 17.5% เป็นการส่งออก 31,385 ล้านบาท ลบ 33.6% และรวม 8 เดือน 249,926 ล้านบาท ลบ 23% เนื่องจากการค้าผ่านแดนลดความสำคัญลง เพราะไทยหันไปส่งออกทางเรือมากขึ้น เพราะตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพอ ค่าระวางเรือถูกลง
นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงเป็นเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงมาก บวกถึง 168.7% และไทยต้องนำเข้า แล้วก๊าซธรรมชาติยังเอาไปทำปุ๋ย ทำให้ราคาปุ๋ยยังคงสูงอยู่ แต่กระทรวงพาณิชย์จะยังเดินหน้าผลักดันการส่งออกต่อไป และด้วยศักยภาพของทีมเซลส์แมนประเทศที่เร่งหาตลาดใหม่ๆ รองรับ ทำให้การส่งออกยังดีอยู่ และช่วงที่เหลือก็จะยังดี โดยตัวเลข 8 เดือนบวกแล้ว 11% เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4% ช่วงปลายปี ก็คิดว่าตัวเลขจะยังดีอยู่ และจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังจากที่การท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นตัว
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือน ส.ค. 2565 ถึง 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากถึง 168.7% ราคาน้ำมันเพิ่ม 28.3% ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชเพิ่ม 0.6% ซึ่งถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ เพราะได้รับผลกระทบจากสงคราม อีกทั้งเงินบาทอ่อนค่า ก็ทำให้มีผลต่อดุลการค้า แต่ก็ส่งผลดีต่อการส่งออกที่แข่งขันได้ดีขึ้น