xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนดัชนีผลผลิตอุตฯ 9 เดือนแรกโต 2.83%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 ขยายตัว 3.36% และ 9 เดือนแรกโต 2.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อานิสงส์ส่งออกที่ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง แถมท่องเที่ยวหนุนเพิ่มช่วงท้ายปี ชี้น้ำท่วมยังไม่กระทบต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 97.90 ขยายตัว 3.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ MPI 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 99.6 ขยายตัว 2.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 63.18% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ CapU อยู่ 61.14% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง 9 เดือนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.4% โดยปัจจัยหลักๆ ยังคงมาจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงและการท่องเที่ยวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ได้ดีขึ้น

"ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน ก.ย. 65 ได้แก่ การส่งออก และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศตามสถานการณ์การระบาดของโควิดที่คลี่คลาย การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่งผลถึงการขยายตัวการผลิตผลิตภัณฑ์สำคัญ เช่น ปิโตรเลียม สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น เบียร์ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ ฯลฯ ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนที่ขยายตัว 7.9% ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ขยายตัว 8.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของปี 2565" นางวรวรรณกล่าว


อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมยังคงไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม โดย สศอ.คาดการณ์ว่าในปี 2565 ดัชนี MPI จะขยายตัวได้ 1.5-2.5% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2-3% จากเดิมคาด 2.5-3.5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ นอกจากนี้ สถานการณ์การส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน และตะวันออกกลาง เช่น ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วิกฤตพลังงาน จากความผันผวนของราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น