xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงฟังความเห็น ลุยตัดถนนเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ 4 เลนแก้จราจรหนาแน่นตัวเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงเปิดรับฟังความเห็น เร่งออกแบบตัดถนนเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ 4 เลน กว่า 9.4 กม. รองรับจราจรหนาแน่น ผุด สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และ
สะพานข้ามทางรถไฟ มี.ค. 66 สรุปผลศึกษา

วันที่ 27 ต.ค. ที่โรงแรมวรบุรี อยุธยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา เขียวรอด นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 356 (ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษา และผลสรุปการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยที่ปรึกษาฯ ชี้แจงว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 356 สายบ้านหว้า-ปากกราน หรือถนนเลี่ยงเมืองอยุธยา เดิมเป็นทางหลวงเดิมขนาด 2 ช่องจราจร ไปกลับ มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 32 กม.14+700 อำเภอบางปะอิน และไปสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 347 กม.33+600 ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวมระยะทาง 9.401 กม. ซึ่งปัจจุบันแนวเส้นทางโครงการมีปริมาณการจราจรหนาแน่น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการจ้างกลุ่มปริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการสำรวจและออกแบบถนนเลี่ยงเมืองอยุธยา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


สำหรับรูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการ 2 ส่วนหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. รูปแบบเกาะกลางถนน เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ไปกลับ โดยรูปแบบเกาะกลางถนน มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) 2. เกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median) 3. เกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) ซึ่งจากการเปรียบเทียบทั้ง 3 รูปแบบ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า รูปแบบที่ 3 มีความเหมาะสมมากที่สุดเนื่องจากถนนมีความปลอดภัยสูง อุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยจากการแบ่งแยกของเกาะกลาง รถยนต์สามารถใช้ความเร็วสูงได้อย่างต่อเนื่อง

2. รูปแบบจุดตัดทางแยก ได้ออกแบบจุดตัดทางแยกรูปแบบที่เหมาะสม จำนวน 3 แห่ง ดังนี้

1. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 32 (จุดเริ่มต้นโครงการ) รูปแบบสะพานยกระดับแบบเชื่อมโยงโดยตรง (Directional Ramp) รองรับรถจากทางหลวงหมายเลข 356 เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 สามารถรองรับปริมาณรถที่ต้องการเลี้ยวขวาเข้า ทล.32 เพื่อไปกรุงเทพฯ ได้โดยตรง ทำให้แยกปริมาณจราจรกับรถที่มาจากตัวเมืองอยุธยาที่ใช้สะพานลอยยกระดับกลับรถเดิม และเหมาะสำหรับกรณีที่ทางคู่ขนานเป็นการเดินรถ 2 ทิศทาง

2. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 347 (จุดสิ้นสุดโครงการ) รูปแบบสะพานยกระดับแบบเชื่อมโดยตรง (Directional Ramp) ระดับ 2 เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ไม่ใช้สัญญาณไฟจราจรควบคุมทางแยกใต้สะพาน ทำให้การไหลของกระแสจราจรได้ทุกทิศทาง รถทางตรงสามารถเคลื่อนที่โดยไม่ถูกรบกวนและรถไม่ต้องหยุดที่ทางแยกสามารถเคลื่อนที่โดยไม่ติดขัดทุกทิศทาง กรณีที่มีปริมาณการจราจรน้อย-ปานกลาง จะใช้เวลาในการผ่านแยกน้อยกว่ารูปแบบที่มีสัญญาณไฟจราจร ระดับความสูงของโครงสร้างสะพานอยู่ในระดับ 2 ทำให้ปริมาณการจราจรในทิศทางตรงของ ทล.347 ซึ่งเป็นทิศทางที่มีรถบรรทุกมากไม่ต้องไต่ระดับความลาดชันของสะพาน และมีค่าบำรุงรักษาต่ำกว่ารูปแบบที่มีสัญญาณไฟจราจร

3. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับถนนเทศบาลเมืองบ้านกรด รูปแบบสะพานยกระดับ (Flyover) ข้ามทางแยกและทางแยกวงเวียนระดับพื้นใต้สะพาน(Roundabout) รถในทิศทางสายหลักสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ ทางแยกวงเวียนระดับพื้นช่วยลดจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางแยกดีกว่าทางแยกทั่วไป ทางแยกวงเวียนระดับพื้นช่วยลดความเร็วในการขับขี่ก่อนเข้าสู่ทางแยก เพิ่มความปลอดภัยให้แก่คนเดินเท้าขณะข้ามแยก และการเดินทางเข้า-ออก ถนนเทศบาลเมืองบ้านกรดด้วยระบบวงเวียนทำให้ไม่ต้องอ้อมวน


นอกจากนี้ โครงการฯ ได้มีการพิจารณาออกแบบโครงสร้างสะพานจำนวน 2 สะพาน ประกอบด้วย 1. สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบเป็นสะพานแบบคานยื่นสมดุล โดยก่อสร้างสะพานเพิ่มอีก 1 สะพาน ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 2 เมตร

2. สะพานข้ามทางรถไฟ ออกแบบโครงสร้างสะพานใหม่เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงแบบหล่อในที่ เพื่อให้ช่องลอดใต้รถไฟความเร็วสูงไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 3 เมตร

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ
โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือน ม.ค. 2566 และจัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ เดือนมี.ค. 2566 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น