หนองคาย - รออีกไม่นาน! สะพานมิตรภาพไทย-ลาว คู่ขนานจะเกิดขึ้น ห่างจากสะพานเดิมเพียง 500 เมตร คาดก่อสร้างได้ปี 2567 สร้างเสร็จภายใน 3 ปี ไทย-ลาวร่วมมือกันลงทุนคนละครึ่ง หนองคายขานรับผุดโครงการรองรับการขยายตัวทางโลจิสติกส์ คาดรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงมาถึงหนองคาย นักลงทุนจะแห่เข้าประมูลทำประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังถูกเมินมานานหลายปี
ในระยะเวลาอันใกล้นี้จังหวัดหนองคายจะมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ทั้งโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา เจรจา และนำเสนอ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและให้สอดรับกับขบวนรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ซึ่งนับตั้งแต่มีการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน แม้เดินทางไปถึงได้แค่สถานีบ่อเต็น ยังไม่สามารถเข้าเมืองคุนหมิงได้ ก็มีผู้ใช้บริการขบวนรถไฟสายนี้แล้วกว่า 2 ล้าน 8 หมื่นคน เป็นคนไทยมากถึง 2 ล้านคน
โดยในช่วงเดือนตุลาคมนี้รัฐบาลจีนจะมีการประชุมหารือว่าจะสามารถเปิดเดินรถไฟถึงสถานีคุนหมิงได้ในช่วงใด เนื่องจากรัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญต่อซีโร่โควิดอยู่ และยังมีประเด็นให้พิจารณารอบด้าน ซึ่งปัญหาการเดินรถไฟขบวนขนสินค้าที่หยุดอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ไม่ได้เชื่อมต่อไปยังท่าเรือบกของลาวเพื่อขึ้นรถไฟความเร็วสูงขึ้น ต้องมีการยกแคร่สินค้าโดยทางการลาว
อย่างไรก็ตาม แม้ขบวนรถไฟสายนี้จะหยุดอยู่แค่ สปป.ลาว ไม่ได้ข้ามฝั่งมายังประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจมีการจัดทำโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยโครงการใหญ่ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดหนองคายในปี 2566 คือการเริ่มก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว คู่ขนานกับสะพานแห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย จุดที่ตั้งตัวสะพานห่างกันเพียง 500 เมตร ใกล้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ชุมชนจอมมณี เขตเทศบาลเมืองหนองคาย
ซึ่งการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสภาพความแออัดของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ที่มีปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกสินค้า รถโดยสารเข้าออกในแต่ละวันจำนวนมาก ยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ การจราจรจะหนาแน่น ประกอบกับมีรางรถไฟไทย-ลาว อยู่ตรงกลางสะพาน ทำให้เมื่อเวลารถไฟจะแล่นผ่านต้องหยุดรถยนต์ทุกชนิด ดังนั้นการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่นี้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวลงทุนก่อสร้างร่วมกันคนละครึ่ง และจะมีเอกสิทธิ์ อำนาจการบริหารจัดการเท่าเทียมกัน
ในปี 2566 จะเป็นการศึกษาออกแบบ และเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 2571 ส่วนการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สำหรับขนสินค้าคาดว่าจะก่อสร้างถึงสถานีนาทา หนองคาย ในปี 2569 และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสำหรับคนโดยสารคาดว่าจะมาถึงหนองคายในปี 2572
พร้อมทั้งมีการจัดสร้างสถานีพักคอยรถบรรทุก สามารถจอดรถได้ 200 คัน ที่บ้านหนองสองห้อง อ.เมืองหนองคาย ริมถนนมิตรภาพ ก่อนที่รถบรรทุกสินค้าจะนำสินค้าข้ามแดน จะมีรถโมบายล์เอกซเรย์ของศุลกากรเข้าตรวจสอบ จำนวน 3 คัน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า และสามารถปล่อยรถที่ได้รับการตรวจตามขั้นตอนปฏิบัติแล้วออกไปได้ โดยสถานีพักคอยรถบรรทุกจะเปิดใช้ในปี 2566
ทั้งนี้ จังหวัดหนองคายได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมาตั้งแต่ปี 2558 ในพื้นที่ 12 ตำบลของอำเภอเมืองหนองคาย และ 1 ตำบลของอำเภอสระใคร ทางจังหวัดได้ประกาศประมูลพื้นที่สำหรับจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมหรือการลงทุนในด้านต่างๆ แล้ว 4 ครั้ง แต่ไม่มีผู้สนใจลงทุน....ถามว่าเพราะเหตุใด น่าจะเป็นเพราะนักลงทุนพิจารณาแล้วเห็นว่าหากลงทุนในทันที ทั้งที่ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟรางคู่ที่สามารถขนส่งสินค้า บริการผู้โดยสารได้รวดเร็ว ก็จะไม่คุ้มค่า แบกภาระจ่ายค่าเช่าที่ดินโดยเปล่าประโยชน์เป็นเวลาหลายปี
ดังนั้นมีนักลงทุนหลายรายทั้งคนไทยและคนจีนจึงรอให้การสร้างทางรถไฟใกล้แล้วเสร็จ จึงจะเข้าประมูลทำประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระหว่างนี้กรมทางหลวงก็จะจัดสร้างถนนไว้รองรับ เป็นถนน 4 เลน จากหนองสองห้องถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และยังมีความต้องการด้านสาธารณูปโภคและความต้องการทางด้านสาธารณสุขที่จะต้องขยายตัวอย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพเพื่อรองรับการให้บริการด้านการรักษาสาธารณสุขแก่คนลาว คนจีน ที่มีความต้องการรับการรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศไทยด้วย