“อนุทิน ควง ศักดิ์สยาม” เยี่ยมชมเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของไทยและ สปป.ลาว ให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและไร้รอยต่อ มองระยะยาวเชื่อมขนส่งถึง "แลนด์บริดจ์"
วันที่ 6 ต.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะผู้แทนไทย และอุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ (นางสาวจิรัสยา พีรานนท์) เยี่ยมชมการบริหารจัดการเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ในโอกาสเข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ณ เขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมี คณะผู้บริหารและพนักงานของบริษัท เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค จำกัด และบริษัท ท่าบกท่านาแล้ง จำกัด ผู้เดียว ให้การต้อนรับ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าข้ามแดน รวมถึงเป็นการใช้ประโยชน์จากการเปิดใช้รถไฟลาว-จีน ที่จะช่วยขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทย-สปป.ลาว ซึ่งวันนี้เอกชนได้เข้าร่วมหารือเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายต่อไป นอกจากนี้ ยังทำให้รับทราบถึงแนวทางและวิสัยทัศน์ของ สปป.ลาว ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนารูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในระบบโลจิสติกส์ของไทย รวมไปถึงการพัฒนาการเชื่อมโยงกับโครงการ Land Bridge ชุมพร-ระนองให้เป็นรูปธรรมอีกด้วย
สำหรับการให้บริการขนส่งสินค้า โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ก (Vientiane Logistics Park : VLP) โดยมีท่าเรือบก (Dry Port) ท่านาแล้ง และการสร้างเขตโลจิสติกส์ครบวงจร ปัจจุบันได้ดำเนินการระยะแรกแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ของรถไฟลาว-จีน ถึงท่าเรือบกท่านาแล้ง ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ก โดยบริษัท สิดทิโลจิสติกส์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือปิโตรเทรดดิ้ง ลาว จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานระยะเวลา 50 ปีจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้เป็นผู้พัฒนาประกอบด้วย ท่าเรือบก (Dry Port), Export Processing Zone, Free Trade Zone, Logistics Park, Tank Farm
มีพื้นที่รวม 2,387.5 ไร่ ในบ้านดงโพสี เมืองหาดซางฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยพื้นที่โครงการครอบคลุมสถานีท่านาแล้ง และลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) ของสถานีท่านาแล้งด้วย
โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนา CY ของสถานีท่านาแล้งซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสถานีท่านาแล้ง (รถไฟไทย-ลาว) กับสถานีเวียงจันทน์ใต้ (รถไฟลาว-จีน) ให้เป็นท่าเรือบก เพื่อเป็นจุดดำเนินพิธีการศุลกากรและเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างสองสถานี โดยได้รับโอนอาคารสถานที่และ CY ของสถานีท่านาแล้งจากรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อบริหารจัดการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564
ปัจจุบันลาน CY ของสถานีท่านาแล้ง สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้สูงสุดประมาณ 20,000 ตู้ แต่ปริมาณการขนส่งยังมีไม่มากนัก โดยในแต่ละเดือนมีการขนส่งเฉลี่ยประมาณ 2,000 ตู้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทปุ๋ย และสินค้าเกษตร โดยบริษัทฯ จะก่อสร้างถนนระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดเพื่อบังคับให้รถบรรทุกวิ่งตรงจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 ไปผ่านพิธีการศุลกากรในบริเวณท่าเรือบก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 คณะทำงานศึกษารายละเอียดด้านการคมนาคมเพื่อรองรับการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างไทย ลาว และจีน โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมประชุมหารือกับรัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่งและคณะผู้แทนฝ่ายลาว โดยฝ่ายลาวมีความยินดีที่ให้ฝ่ายไทยดำเนินการศึกษาแนวทางการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ทั้งในรูปแบบสะพานรถไฟและรถยนต์ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพิจารณาผลการศึกษาร่วมกันต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นฝ่ายลาวเสนอว่าสะพานรถไฟ และรถยนต์ควรแยกออกจากกัน
ทั้งนี้ รฟท. และการรถไฟลาวได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 และ 9 สิงหาคม 2565 และมีมติเห็นชอบให้สถานีท่านาแล้งเป็นสถานีระหว่างประเทศเช่นเดิม โดยการรถไฟลาวจะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาอบรม พนักงานขับรถ, พนักงานรักษารถ เมื่ออบรมเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมการยืนยันการใช้ทางก็จะดำเนินการเปิดเดินรถต่อไป
โดยแผนการเปิดเดินขบวนรถโดยสาร แบ่งเป็น 3 ระยะ รายละเอียดดังนี้
แผนระยะเร่งด่วน (ปี 2566) ขยายต้นทาง/ปลายทางของขบวนรถที่ให้บริการในปัจจุบัน ในฝั่งลาว จากสถานีท่านาแล้ง เป็นสถานีบ้านคำสะหวาด (วันละ 4 ขบวน ไป-กลับ) เริ่มให้บริการกลางปี 2566
แผนระยะกลาง (ปี 2567) ขยายต้นทาง/ปลายของขบวน ในฝั่งไทย จากสถานีหนองคาย เป็นสถานีอุดรธานี (วันละ 4 ขบวน ไป-กลับ) เปิดเดินขบวนรถระหว่าง สถานีนครราชสีมา-บ้านคำสะหวาด (วันละ 2 ขบวน ไป-กลับ)
แผนระยะยาว (ปี 2568 เป็นต้นไป) จัดเดินขบวนรถโดยสารทางไกล ระหว่างสถานีบางซื่อ/พัทยา-สถานีบ้านคำสะหวาด (วันละ 2 ขบวน ไป-กลับ)
รฟท.และการรถไฟลาวได้หารือร่วมกัน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปิดเดินรถเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ในประเด็นการติดตั้งระบบจำหน่ายตั๋วในฝั่งลาว
ในส่วนของการศึกษาดูงานในวันนี้ทางฝ่ายไทยได้เรียนรู้ถึงวิสัยทัศน์ของ สปป.ลาว ที่วางยุทธศาสตร์ว่าจะเปลี่ยนจากประเทศ Landlocked ให้เป็น Land-Linked ผ่านนโยบาย Lao Logistics Link (LLL) ที่จะเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทยกับจีนและเวียดนามผ่านเครือข่ายระบบการขนส่งทางถนนและทางรางซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและ GDP ของ สปป.ลาวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม การได้รับทราบถึงแนวทางและวิสัยทัศน์ของ สปป.ลาว ในวันนี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนารูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย รวมไปถึงการพัฒนาการเชื่อมโยงกับโครงการ Land Bridge ชุมพร-ระนองให้เป็นรูปธรรม อันจะสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เป็นไปอย่างมั่นคง