รฟท.กลับมาเปิดบริการสายใต้ (กรุงเทพฯ-ยะลา-กรุงเทพฯ) และขบวนรถระหว่างประเทศ หนองคาย-ท่านาแล้ง-หนองคาย เริ่ม 16 ก.ย. 65 รองรับความต้องการ ภาพรวมเดินรถบริการรวมเป็น 206 ขบวน เป็นเชิงพาณิชย์ 62 ขบวน รถเชิงสังคม 144 ขบวน
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ล่าสุดการรถไฟฯ ได้เปิดให้บริการขบวนรถสายใต้ เส้นทางกรุงเทพฯ-ยะลา-กรุงเทพฯ จำนวน 2 ขบวน และขบวนรถสายตะวันออกเฉียงเหนือ หนองคาย-ท่านาแล้ง-หนองคาย ซึ่งเป็นขบวนรถระหว่างประเทศ อีก 4 ขบวน ประกอบด้วยสายใต้ 2 ขบวน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน และ 17 กันยายน 2565
1. ขบวนรถเร็วที่ 169 กรุงเทพฯ-ยะลา ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 15.35 น. ถึงยะลา เวลา 11.45 น.
2. ขบวนรถเร็วที่ 170 ยะลา ออกจากยะลา ออกจากยะลาเวลา 12.35 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 08.55 น.
สายตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ขบวน (ขบวนรถระหว่างประเทศ) เริ่มให้บริการวันที่ 16 กันยายน 2565
1. ขบวนรถระหว่างประเทศที่ 481 หนองคาย-ท่านาแล้ง ออกจากหนองคาย เวลา 07.30 น. ถึงท่านาแล้ง เวลา 07.45 น.
2. ขบวนรถระหว่างประเทศที่ 483 หนองคาย-ท่านาแล้ง ออกจากหนองคาย เวลา 14.45 น. ถึงท่านาแล้ง เวลา 15.00 น.
3. ขบวนรถระหว่างประเทศที่ 482 ท่านาแล้ง-หนองคาย ออกจากท่านาแล้ง เวลา 10.00 น. ถึงหนองคาย เวลา 10.15 น.
4. ขบวนรถระหว่างประเทศที่ 484 ท่านาแล้ง-หนองคาย ออกจากท่านาแล้ง เวลา 17.30 น. ถึงหนองคาย เวลา 17.45 น.
โดยเมื่อเปิดเดินขบวนดังกล่าวแล้วส่งผลให้การรถไฟฯ จะมีขบวนรถให้บริการรวม 206 ขบวนต่อวัน โดยแบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 62 ขบวน ขบวนรถเชิงสังคมเปิดให้บริการ 144 ขบวน และแบ่งตามเส้นทางได้เป็นสายเหนือ 36 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 50 ขบวน สายใต้ 54 ขบวน สายตะวันออก 24 ขบวน สายมหาชัย 34 ขบวน และสายแม่กลอง 8 ขบวน
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังสถานการณ์ของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับฝ่ายการช่างกลเร่งดำเนินการซ่อมบำรุงตู้โดยสารเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการเดินรถในปัจจุบัน การรถไฟฯ จึงได้ทยอยปรับเพิ่มการเดินรถในเส้นทางต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับจำนวนตู้โดยสารที่มีและความต้องการเดินทางของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศจะลดลงแต่การรถไฟฯ ยังให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กัน โดยได้กำชับให้ทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในขบวนรถ อาคารสถานี ชานชาลา ที่พักผู้โดยสาร ห้องสุขา และพื้นที่โดยรอบบริเวณสถานี การให้บริการเจลแอลกอฮอล์ ให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยตลอดการปฏิบัติหน้าที่ การกำหนดจุดคัดกรองวัดไข้ผู้โดยสารก่อนเข้าในพื้นที่สถานี และการตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทาง