xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.จับมือพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ผุด”คลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่”นำร่องสายใต้และพื้นที่ห่างไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.จับมือ พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ผุดแพทย์ทางไกล และคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ โดยนำตู้รถไฟมาดัดแปลง ออกหน่วยตรวจรักษาให้กับพนักงานรฟท.และครอบครัวและประชาชนพื้นที่ห่างไกล นำร่องในเส้นทางภาคใต้ ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาพยาบาล

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม” โดยมีนายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเป็นสักขีพยานลงนาม ณ ห้องปฏิบัติการ ชั้น 3 อาคารตึกบัญชาการรถไฟฯ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์กับสังคมและประชาชน รวมถึงบุคลากรของการรถไฟฯ ในการเข้าถึงระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ด้วยแนวคิดการให้บริการ “การแพทย์ทางไกลและคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ” การรถไฟฯ ได้ดำเนินแนวทางในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนและสังคม รวมถึงบุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว

โดยการรถไฟฯและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ร่วมมือกัน เพื่อนำศักยภาพของแต่ละฝ่ายมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิดการให้บริการการแพทย์ทางไกล และคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญและใส่ใจต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว รวมทั้ง ประชาชนทั่วไป ที่อยู่ห่างไกล เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ทำให้เกิดทางเลือกในการรักษา ตลอดจนสามารถเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้อย่างสะดวกด้วยปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการสอบถามปัญหาสุขภาพทั่วไปผ่าน Chatbot ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย จะสามารถเข้าถึงการแพทย์เฉพาะทางได้อย่างสะดวก และสามารถนัดตรวจติดตามโดยผ่านทางแอปพลิเคชัน

สำหรับการให้บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาด้านการรักษา การให้คำแนะนำหรือการสอบถามข้อมูลปัญหาด้านสุขภาพทั่วไป อาทิ อาการเจ็บป่วย และการวินิจฉัยเบื้องต้น ตลอดจนแนะนำแนวทางการรักษาที่เป็นไปได้ ผ่านระบบ chatbot ซึ่งเป็นการสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพทั่วไปช่วยให้ประชาชน บุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว สามารถเข้าถึงการแพทย์เฉพาะทางได้อย่างสะดวก และสามารถนัดตรวจติดตามโดยผ่านทางแอปพลิเคชันได้

ส่วนการจัดทำคลินิกเฉพาะทางเคลื่อนที่ทางรถไฟ (Mobile polyclinic coach) การรถไฟฯ จะนำตู้รถไฟมาดัดแปลงให้เป็นตู้รถไฟคลินิกเคลื่อนที่ พ่วงไปกับขบวนรถในเส้นทางต่าง ๆ ให้การรักษาแก่ผู้มีความจำเป็นทางการแพทย์ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะนำคณะแพทย์เฉพาะทาง ลงพื้นที่ออกหน่วยตรวจรักษาให้กับบุคลากรของการรถไฟฯ และครอบครัว ตลอดจนประชาชนพื้นที่ห่างไกลในเส้นทางภาคใต้เป็นพื้นที่นำร่อง จากนั้นจะเพิ่มบริการไปเส้นทางอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างทัดเทียมกัน

“การรถไฟฯ มีนโยบายสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรม CSR ตามแนวทางในการดำเนินกิจการอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการร่วมมือทางการแพทย์ครั้งนี้ จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนใกล้เคียงพื้นที่สายทางรถไฟได้มีสุขภาพอานามัยที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป”




กำลังโหลดความคิดเห็น