xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟท.ไฟเขียวแผนฟื้นฟูใหม่แก้หนี้ 2 แสนล้าน ลุยธุรกิจเดินรถและ Non-core พลิกฟื้นรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.เห็นชอบแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ เปิด 6 กลยุทธ์ เพิ่มประสิทธิภาพ-รายได้ ลุยธุรกิจเดินรถและ Non-core เร่งจัดหารถจักรล้อเลื่อน พลิกฟื้นผลประกอบการ คาดชง ครม.ในปีนี้พร้อมเคาะจ้าง รฟฟท. 476 ล้านบาท เดินรถสายสีแดงปี 66 

นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มี นายจิรุฒม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 มีมติเห็นชอบแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2566-2570 (แผนฟื้นฟูการรถไฟฯ) และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2566 โดยหลังจากนี้ รฟท.จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 2565 

โดยแผนฟื้นฟู รฟท.ฉบับปรับปรุงใหม่ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ดังนี้ 1. พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Enhance Competitive Advantage) มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และเส้นทางรถไฟสายใหม่, จัดหาและซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อทดแทนและขยายกำลังการขนส่ง ลดต้นทุนการแข่งขัน, เพิ่มสัดส่วน Outsource งานซ่อมบำรุงรักษาทางของเอกชนเพื่อลดต้นทุน

2. พลิกฟื้นธุรกิจหลัก (Core Business Turnaround) มี 6 กลยุทธ์ ได้แก่ ขยายการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ, ปรับรูปแบบการเดินรถเพื่อลดการขาดทุน, พัฒนาขบวนรถท่องเที่ยว, ขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อ (Parcel), พัฒนาคุณภาพบริการรถโดยสารและสินค้า, บริหารโครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ, บริหาร PSO ให้เหมาะสม 

3. พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง (Non-core Business Enhancement) มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่ สร้างรายได้จากบริหารสัญญาเช่า ทรัพย์สินและที่ดิน, สนับสนุนบริษัทลูกพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และขยายธุรกิจใหม่, พัฒนารูปแบบสร้างรายได้เสริมจากพื้นที่โฆษณาและเชิงพาณิชย์

4. ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง (Become Platform Provider) ได้แก่  เตรียมพร้อมรองรับ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง การให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ 

5. ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู (Organizational Reform) มี 4 กลยุทธ์ ได้แก่ ปรับโครงสร้างองค์กร, เพิ่มสายงานการตลาดธุรกิจโดยสารและสินค้า, ปรับปรุงกระบวนการทำงานขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี, บริหารจัดการค่าใช้จ่ายบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ, พัฒนาระบบบัญชีแยกแต่ละกลุ่มธุรกิจ 

 6. พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model (BCG Model Incorporation) ได้แก่ มุ่งสู่นวัตกรรมสีเขียว บริการด้วยรถไฟ EV 

ทั้งนี้ แนวทางแผนฟื้นฟู รฟท.ฉบับใหม่จะปรับจากแผนเดิมก่อนหน้านี้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่กำลังจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าและมีโอกาสชิฟโหมดจากถนนสู่รางได้มากขึ้นเพราะมีต้นทุนต่ำกว่าและมุ่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ เน้นรายได้จากธุรกิจ Non-core นอกเหนือจากค่าโดยสาร เช่น มีบริการอาหารบนรถ หรือหาพันธมิตรด้านท่องเที่ยวและขนส่งเชื่อมต่อเพื่อเสริมบริการผู้โดยสาร เป็นต้น

ปัจจุบัน รฟท.มีหนี้สินประมาณ 2 แสนล้านบาท แผนฟื้นฟู มีเป้าหมายให้ รฟท.มี  EBITDA เป็นบวก ไม่เกินปี 2576 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากการบริหารของ รฟท.ใช้บุคลากรค่อนข้างมาก และเป็นบริการที่ใช้เงินในการลงทุนสูง ดังนั้นหากต้องการเพิ่มรายได้ทั้งด้านโดยสารและสินค้าและธุรกิจ Non-core ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนให้เป็นไปตามที่กำหนดในแผน 

ในขณะที่ รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีขั้นตอนและเวลาในการดำเนินการและกระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟู ว่ามีแนวทางในการแก้ปัญหาขาดทุนและสร้างรายได้ให้ รฟท.ในอนาคตอย่างยั่งยืน เชื่อว่าการเสนอแผนจัดหารถจักรล้อเลื่อนจะได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีแผนที่ต้องเร่งเดินหน้า เช่น การจัดหารถดีเซลราง 184 คัน รถดีเซลราง 216 คัน และรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ 965 คัน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานปัจจุบันของ รฟท.จะมีการตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท ซึ่งได้ดำเนินการแล้วคือบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินคือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) โดยอยู่ในขั้นตอนการโอนสัญญาและสิทธิ ส่วนที่เหลือ คือบริษัทลูกเดินรถ และซ่อมบำรุง ซึ่งจะดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มรายได้ให้รฟท. 


@เคาะงบปี 66 กว่า 476 ล้านบาทจ้าง รฟฟท.บริหารการเดินรถสายสีแดง

นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังเห็นชอบสั่งจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ประจำปีงบประมาณ 2566 ระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2566 วงเงินไม่เกิน 476,812,470.60 บาท โดยถือตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเป็นเกณฑ์ซึ่งให้ใช้เป็นค่าเงินเดือน ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ จะต้องเสนอ รฟท.ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณเข้าไปดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น