xs
xsm
sm
md
lg

”ศักดิ์สยาม” หารือผู้แทนไจก้าชุดใหม่ เดินหน้าศึกษา M-MAP2 พัฒนาบางซื่อเป็น Smart City และ TOD เต็มรูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้แทนไจก้าพบ "ศักดิ์สยาม" แนะนำผู้บริหารใหม่ ยืนยันสานต่อความร่วมมือทางวิชาการ ศึกษา M-MAP2 โครงการความปลอดภัยทางถนน พร้อมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่บางซื่อในระยะถัดไป และแนวทาง PPP ดันเป็นต้นแบบ Smart City และพัฒนา TOD เต็มรูปแบบ

วันที่ 26 ก.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ นายทากาฮิโระ โมริตะ หัวหน้าผู้แทนสำนักงานไจก้าประเทศไทย (Mr. MORITA Takahiro, Chief Representative, JICA Thailand) เข้าพบในโอกาสพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และแนะนำ Chief Representative คนใหม่ Mr. SUZUK Kazuya และได้หารือความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง JICA กับกระทรวงคมนาคม โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และนายประภัทรเผ่า อาวะกุล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมหารือ ณ กระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ Mr. MORITA ได้อำลารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโอกาสพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และได้แนะนำ Chief Representative คนใหม่ Mr. SUZUKI Kazuya พร้อมนี้ได้รายงานถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง JICA กับกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการ M-MAP2 (โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ที่ได้ร่วมศึกษากับกรมการขนส่งทางราง และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) โครงการความปลอดภัยทางถนน โดยสนับสนุนการบริหารจัดการและโครงสร้างการดำเนินงานให้กับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม (TSOC) หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ของกระทรวงคมนาคม และโครงการพัฒนาสมรรถนะการบริหารงานโครงการอุโมงค์ในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคนิควิศวกรรมร่วมกับกรมทางหลวง เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่โครงการบางซื่อในระยะถัดไป ทั้งการกำหนดขอบเขตสำหรับให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแบบ PPP และการจัดตั้ง Smart Service Company (SSC) เพื่อรองรับพันธกิจการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะและการหมุนเวียนการใช้พลังงานในพื้นที่โครงการฯ เพื่อให้โครงการบางซื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนา Smart City และ Transit-oriented development (TOD) เต็มรูปแบบของประเทศไทย พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอถึงแนวคิดการพัฒนาเชิงธุรกิจของโครงการ Land bridge ชุมพร-ระนอง ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นโครงการที่สนับสนุนแนวคิดในการพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืน






กำลังโหลดความคิดเห็น