“คมนาคม-กทม.”ถกเคลียร์หนี้สายสีเขียวประเมินถึงก.ย.65 กว่า 5.42 หมื่นล้านบาท รอสภากรุงเทพมหานครเคาะรับหนี้และเห็นชอบ MOUโอนทรัพย์สินและหนี้สิน“ผู้ว่าฯรฟม.ลุ้นจบในก.ย.ส่วนโอนคืนรฟม.ขั้นตอนยุ่งยาก เหตุมีหนี้ค่าติดตั้งระบบที่ต้องเจรจา
วันนี้ (17 มิ.ย.) กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมแทนนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะประธานคณะทำงานร่วมฯ ได้มอบหมายให้ นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เป็นผู้แทน โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช ,สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เข้าร่วม
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ได้หารือถึงบันทึกข้อตกลง (เพิ่มเติม ฉบับที่1) ว่าด้วย การจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งการประชุมคณะกก.กำกับฯ ครั้งที่1/2565 ได้มีความเห็นชอบแล้ว รวมถึงแนวทางการดำเนินงานก่อสร้างและติดตั้งสะพานเหล็กทดแทนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน และสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ ณ สถานที่แห่งใหม่ โดยกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งสะพานเหล็กทดแทนและพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการซึ่งภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงสิ้นสุดถึงวันที่ 31มีนาคม 2565 รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ อยู่ที่
53,313.22 ล้านบาท
ซึ่งในส่วนของ รฟม.ได้นำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม.เห็นชอบ MOU (เพิ่มเติม ฉบับที่ 1) และภาระทางการเงินของรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว พร้อมได้นำส่งกระทรวงคมนาคมเรียบร้อย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการโอนทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้ ได้สรุปการโอนรถฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) โดยปรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริง สิ้นสุดถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เป็นจำนวน 53,321.90 ล้านบาท แบ่งเป็น งานโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จำนวน 19,150.199 ล้านบาท งานโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จำนวน 34,171.70 ล้านบาท พร้อมทั้งได้มีการประมาณการณ์ภาระทางการเงิน ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 (สิ้นปีงบประมาณ 2565) จำนวน 54,284.07 ล้านบาท ซึ่งนอกจากค่าก่อสร้างงานโยธาแล้วยังมีค่าเวนคืน ค่าจ้างที่ปรึกษา อีกด้วย รวมถึงดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยภาระทางการเงินโครงการทั้งหมดจะมีการสรุปอีกครั้งเมื่อทางกทม.กำหนดวันรับโอนหนี้ที่ชัดเจนเมื่อใด
ซึ่งในส่วนของ กทม.นั้นยังมีขั้นตอนที่จะต้องนำเรื่องเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร เพื่อเห็นชอบ MOU (เพิ่มเติม ฉบับที่ 1) และภาระทางการเงินที่ต้องรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยกทม.รายงานที่ประชุมว่า ขณะนี้ กองกฎหมาย กทม.อยู่ระหว่างตรวจร่าง MOU (เพิ่มเติม ฉบับที่ 1) จากนั้นจะเสนอสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาเห็นชอบ MOU และพิจารณาภาระทางการเงินโครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 2 -3 เดือน เนื่องจาก ผู้ว่าฯ กทม.และผู้บริหารชุดใหม่ เพิ่งเข้าปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของสภากทม.มีวาระอื่นๆ ที่ค้างการพิจารณาจำนวนมาก รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกสภากทม. ก่อน จึงยังไม่สามารถบรรจุวาระพิจารณาเห็นชอบภาระหนี้สายสีเขียวในช่วงแรกได้
สำหรับเงื่อนไขใน MOU จะเป็นการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ พร้อมภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการจากรฟม.ไปให้กทม.โดยไม่รวมอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง
ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของกระทรวงคมนาคม โดยรฟม. ได้มีความพร้อมในการเสนอครม.เพื่อเห็นชอบการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ ส่วนกทม.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน เสนอสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบ ภาระทางการเงินก่อน เพื่อนำเรื่องเสนอครม.พิจารณาในคราวเดียวกัน จึงจะลงนามใน MOU โอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไป ซึ่งพยายามจะให้เรียบร้อยภายในปีงบประมาณ 2565 หรือในเดือนกันยายน 2565
สำหรับการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายคืน รฟม.นั้น ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า อยู่ที่นโยบาย ปัจจุบันภาระหนี้การก่อสร้างโครงการ อยู่ในบัญชีของรฟม. แต่ได้แยกก้อนหนี้สายสีเขียวนี้ออกมา เพื่อเตรียมโอนให้กทม.ซึ่งแม้กทม.ยังไม่ได้รับโอนหนี้ไปแต่การจะโอนโครงการกลับมารฟม.มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ขณะที่ทางกทม.โดยกรุงเทพธนาคม ได้เข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าไว้แล้ว หากจะโอนโครงการคืน จะต้องประเมินค่าใช้จ่าย ติดตั้งระบบ เพื่อให้รฟม.จัดหาเงินมาดำเนินการในส่วนค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า