xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” แนะ “ชัชชาติ” อย่าต่อสัมปทานสายสีเขียวถึงเกิดตั๋วร่วมราคาเดียวถูก หนี้ให้ รบ.- อดีตผู้ว่าฯ ที่สร้างเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีต ส.ว.กทม. แนะ “ชัชชาติ” ไม่ต้องต่อสัมปทานสายสีเขียว จึงจะเกิดตั๋วร่วมราคาเดียวได้ ควรมีเจ้าของเดียวจะได้ไม่เก็บซ้ำซ้อน โดยยกให้ รฟม.แลกค่าโดยสารถูก ชี้ รบ.- อดีตผู้ว่าฯ สร้างหนี้บีบต่อสัมปทาน อย่าหลงกับดักของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ชี้ ทำได้อยู่อีกสมัย

หมดสัญญาหมดต้นทุนค่าโครงสร้าง 20 บ.ทั้งสายเป็นไปได้ ชี้รัฐต้องอุ้มส่วนต่อขยายไม่คุ้มค่า ศก.เอง กางสัญญาเอื้อเอกชนรายเดิม ชำแหละวางกับดักบีบต่อสัญญา ปูดเอกชนเอาส่วนต่อขยายสร้างหนี้หวังต่อสัมปทานส่วนหลัก อย่าหลงกับดักของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย สร้างหนี้บังตา ที่ รบ.- อดีตผู้ว่าฯ สร้าง ชี้ทำได้รับเลือกอีกสมัย

วันนี้ (27 พ.ค.) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อข้อเสนอแนะถึงผู้ว่าชัชชาติเรื่องต้องไม่ต้องต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงจะเกิดตั๋วร่วมราคาเดียวได้

เมื่อเย็นวานนี้ (26 พ.ค.) คุณชัชชาติ ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ FM 96.5 เรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สาระโดยสรุปว่า

1) การแก้ปัญหาหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะไม่ต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส โดยอาศัยอำนาจ คสช. มาตรา 44 (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562) แต่ถ้าจะต่อสัมปทาน ก็ “จะต่อสัญญาสัมปทาน” โดยอาศัยพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพราะมีหลายเจ้ามาแข่งขันกัน

2) รฟม.เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าอื่นๆ 10 สาย ส่วน กทม.มีสายเดียว ต้องการให้เกิดตั๋วร่วมราคาเดียว ซึ่งควรมีเจ้าของเดียวจะได้ไม่เกิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน

ปมหนี้สินที่รัฐบาลสร้างขึ้นกับส่วนต่อขยาย (2) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็เพื่อผูกมัดให้ต่อสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก” ใช่หรือไม่

1) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่เป็นสายหลัก คือ จากสถานีหมอชิต ถึง สถานีอ่อนนุช จะหมดสัมปทาน 30 ปี กับเอกชนในปี 2572 และจะเป็นสมบัติของ กทม. โดยชาว กทม.ได้จ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐานระบบรางรวมอยู่ในราคาค่าโดยสารไปแล้ว เมื่อหมดสัมปทานก็จะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้าง จะมีก็แค่ค่าใช้จ่ายการเดินรถ และค่าบำรุงรักษาเท่านั้นซึ่งจากรายงานการเงินของบีทีเอส พบว่า ค่าใช้จ่ายการเดินรถเพียงเที่ยวละ 10-16 บาทเท่านั้น ดังนั้น ราคาค่าโดยสารเที่ยวละ 20 บาทตลอดสาย จึงเป็นไปได้

2) รัฐบาลได้สร้างส่วนต่อขยาย (2) จากสถานีหมอชิต ไปถึง คูคต และส่วนต่อขยายจากสถานีอ่อนนุช ถึง สมุทรปราการ โดยมีการประเมินว่า ส่วนต่อขยาย (2) ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ หมายความว่า จะไม่มีเอกชนรายไหนสนใจจะมาสัมปทานส่วนต่อขยายนั้น คือเดินรถไปก็ขาดทุนแน่นอน แต่รัฐบาลเห็นว่ามีผลดีทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการช่วยประชาชนย่านปริมณฑลเดินทางเข้ามาในเมือง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดงบฯอุดหนุนให้มีการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เองไม่ใช่ผลักภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ กทม. แต่ปรากฎว่ารัฐบาลไม่ได้จัดงบฯอุดหนุนให้กทม.เดินรถ จึงเกิดหนี้จากการเดินรถใน 2-3 ปีที่ผ่านมา

3) ผู้ว่าฯจากการเลือกตั้ง กทม.ยุคก่อน คสช.ไปทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย (2) ไปถึงปี 2585 ด้วยสัญญจ้างเดินรถ 1.6 แสนล้านบาท ทั้งที่รถสายสีเขียวส่วนหลัก (สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช) จะหมดอายุสัมปทานในปี 2572 จึงเกิดการเขย่งหากจะมีการประมูลการเดินรถ สายสีเขียวส่วนหลักหลังหมดสัมปทานในปี 2572 ข้ออ้างว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถถึง 2585 มาจากเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนขบวนรถไฟซึ่งเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิมได้เปรียบเอกชนรายอื่นถ้าจะมีการประมูลการเดินรถ ใช่หรือไม่

4) ส่วนต่อขยาย (2) คือ จากสถานีหมอชิต ถึงคูคต และจากสถานีอ่อนนุชถึงสมุทรปราการ กทม. ยังไม่ได้รับโอนมาเป็นสมบัติของ กทม. ดังนั้น ส่วนต่อขยายดังกล่าว จึงยังคงเป็นสมบัติของ รฟม. และกระทรวงคมนาคม

5) ผู้ว่าฯ กทม.ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นเป็นผู้สั่งให้เดินรถส่วนต่อขยาย(2) โดยไม่ได้ของบฯสนับสนุนจากรัฐบาล จึงทำให้ขาดทุนจากการจ้างเดินรถและเกิดเป็นหนี้ก้อนโตขึ้นมา

ต้องถามว่าทั้งหมดนี้คือการวางกับดักสร้างหนี้ส่วนต่อขยาย (2) เพื่อบังคับให้ผู้ว่าฯ
กทม.จากการเลือกตั้งต้องต่อสัมปทานให้เอกชนในส่วนที่เป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักที่กำลังจะหมดสัมปทานในอีก 7 ปี  (2572) ใช่หรือไม่?

คุณชัชชาติ ไม่ควรหลงกลเอารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (จากสถานีหมอชิต ถึงสถานีอ่อนนุช) ที่เป็นของคน กทม.ไปแก้ไขหนี้สินส่วนต่อขยาย (2) ที่ไม่ใช่สมบัติของ กทม. ไม่ว่าจะด้วยการต่อสัมปทานภายใต้ ม.44 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนก็ตาม และการต่อสัมปทานด้วย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก็จะมีเอกชนรายเดียวที่ได้เปรียบเอกชนรายอื่นเหมือนเดิม ใช่หรือไม่

การที่เอกชนไม่สนใจสัมปทานเฉพาะส่วนต่อขยาย เพราะขาดทุนแน่นอน แต่อยากต่อสัมปทานส่วนหลักต่างหาก โดยเอาส่วนต่อขยายมาสร้างหนี้เพื่อเป็นเงื่อนไขมาต่อสัมปทานส่วนหลัก ใช่หรือไม่

ข้อเสนอแนะต่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ

1) คุณชัชชาติไม่ควรหลงกลติดกับดักเรื่องหนี้จากส่วนต่อขยาย (2) ที่ไม่ใช่สมบัติของ กทม. แต่มีการสร้างหนี้ขึ้นมาบังตาประชาชนเพื่อกินรวบรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักคน กทม.ได้จ่ายเงินค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางมาตลอด และจะหมดสัมปทานในอีก 7 ปี (2572)

การต่อสัมปทานให้เอกชนไปอีก 30 ปี ในราคาสูงสุด 65 บาท เป็นการโกงคน กทม. เป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมสำหรับคน กทม. เพราะจากงบการเงินของบีทีเอส ปี 2562/2563 รายงานค่าใช้จ่ายการเดินรถซึ่งน่าจะรวมส่วนหลัก และส่วนต่อขยาย (2) ไว้แล้ว มีค่าใช้จ่ายเพียง 15.70 บาทเท่านั้น ใช่หรือไม่

การที่มีต้นทุนเดินรถทั้งส่วนหลัก และส่วนต่อขยาย เพียง 15.70 บาทต่อเที่ยว และเอกชนที่ได้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลัก และส่วนต่อขยาย (2) จะสามารถหารายได้จากการให้เช่าพื้นที่ในสถานี จากการโฆษณา และรวมทั้งจากการเชื่อมต่อกับพื้นที่เอกชนมากกว่าปีละ 5,000 ล้านแน่นอน เฉพาะสถานีส่วนหลัก ก็เคยมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท อยู่แล้ว หากรวมส่วนต่อขยาย (2) เข้าไปด้วยน่าจะมีรายได้ถึงปีละ 5,000-8,000 ล้านบาทจึงมีข้อเคลือบแคลงว่า การผลักดันต่อสัมปทานนี้เป็นการร่วมกันหาประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและกลุ่มทุนที่วางแผนสร้างปมหนี้สินเพื่อกินรวบรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30ปี ในราคา65 บาท ซึ่งเป็น “กับดักของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ใช่หรือไม่

คุณชัชชาติ บอกชัดเจนว่า จะไม่ต่อสัมปทานโดย ม.44 ของ คสช. (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562) และดิฉันเห็นว่า คุณชัชชาติก็ต้องไม่ติดกับดักเรื่องหนี้ที่เขาอ้าง เพื่อไปต่อสัมปทานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ด้วย

ขอให้คุณชัชชาติยึดหลักว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักเป็นของ กทม. และไม่เกี่ยวกับหนี้สิน ที่รัฐบาลและผู้ว่าฯคนก่อนสร้างขึ้น คุณชัชชาติควรคืนส่วนต่อขยาย (2) ให้ รฟม. ตามที่รัฐมนตรีคมนาคมพูดทวงไว้ถูกต้องแล้ว รวมทั้งไม่รับหนี้ที่รัฐบาลและผู้ว่าฯคนก่อนสร้างขึ้น รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมต้องไปจัดการเรื่องหนี้เอาเอง ใครทำผิดกฎหมายก็เอาผิดกับคนเหล่านั้น คุณชัชชาติต้องไม่หลงกลรับหนี้นั้นมาแก้ปัญหาให้ด้วยการให้ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (สถานีหมอชิต ถึง สถานีอ่อนนุช) ที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของ กทม.

2) คุณชัชชาติได้รับการเลือกตั้งมาโดยเสียงชาว กทม.ถึง 1.3 ล้านเสียง ควรเริ่มต้นใหม่โดยตั้งหลักว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะตกเป็นสมบัติของ กทม.ในปี 2572 นั้น คน กทม. เป็นเจ้าของโครงสร้างระบบราง เพราะได้จ่ายค่าก่อสร้างระบบรางไปครบถ้วนแล้วที่รวมอยู่ในค่าโดยสารตลอด 30 ปี ของสัญญาสัมปทานเดิม ดังนั้น เมื่อหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 คน กทม.ต้องได้ราคาค่าโดยสารถูกลง ไม่ใช่ราคา 65 บาท นี่คือ ประโยชน์สูงสุดที่คุณชัชชาติจะทำให้กับชาว กทม.ได้

3) หากคุณชัชชาติ เห็นว่า รถไฟฟ้าทั้งหมดใน กทม.ควรมีเจ้าของเดียว เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ดิฉันเสนอให้คุณชัชชาติยกรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักที่จะหมดสัมปทานในปี2572ให้รฟม.เพื่อแลกกับอำนาจต่อรองการกำหนดค่าโดยสารให้ชาว กทม. และควรเสนอว่ากระทรวงคมนาคมก็ต้องไม่ยกสัมปทานรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีส้มให้กับเอกชนอีกด้วย เพื่อให้รฟม.เป็นเจ้าของระบบรางเพียงรายเดียวดังที่คุณชัชชาติได้ให้สัมภาษณ์ ไว้ เพื่อให้ รฟม.สามารถมีอำนาจกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบได้

คุณชัชชาติ ควรยกรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ รฟม.แลกกับข้อเสนอให้คิดราคาค่าโดยสารตั๋วร่วมราคาเดียวตลอดการเดินทางทั้ง 10 สาย (466 กม.) สูงสุดในราคาไม่เกิน 44 บาท ซึ่งคำนวณจากสูตรของกระทรวงคมนาคมเองที่ใช้ 12+2x (ค่าแรกเข้าคือ 12 บาท ส่วน 2x คือ สถานีละ 2 บาท และ X คือจำนวนสถานี ราคาสูงสุด 44 บาท) ที่ผ่านมา มีสถิติคนขึ้นรถไฟฟ้าสูงสุด เพียง 7 สถานีเท่านั้น ดังนั้น คน กทม.จะจ่ายค่าเดินทาง 7 สถานีได้ในราคา 26 บาทเท่านั้น

การทำให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนที่คนทุกรายได้สามารถเดินทางได้ ค่าโดยสารที่ถูกลงก็จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 1.1 ล้านคน/ปี (ประเมินโดยกระทรวงคมนาคม) เป็น 3-4 ล้านคน/ปี การผลักดันตั๋วร่วมราคาเดียวที่ 44 บาท จะเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับคน กทม. และหากทำเช่นนี้ได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหารถติด และฝุ่นพิษ PM 2.5 ไปได้ด้วยเพราะ PM 2.5 เกิดจากไอเสียรถที่ใช้น้ำมันฟอสซิล

ดิฉันเชื่อมั่นว่า หากคุณชัชชาติทำเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์สูงสุด ให้กับชาว กทม.และท่านจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯได้ 2 สมัย อย่างแน่นอน เพื่อทำให้ภารกิจตั๋วร่วมราคาเดียวของรถไฟฟ้าเกิดขึ้นเป็นจริงได้หลังปี 2572


กำลังโหลดความคิดเห็น