โบรกเกอร์จับตา BTS หลัง "ชัชชาติ" นั่งผู้ว่าฯ กทม. วางนโยบายหาเสียงไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 2029 อาจเป็น sentiment ลบต่อหุ้น รวมถึงบริษัทในเครืออย่าง VGI-PLANB แต่ยังแนะนำซื้อ มองไม่กระทบราคาเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประเมินนโยบายกระทบหุ้นในระยะสั้น ให้ราคาเป้าหมายที่ 12.60 บาท ด้านราคาหุ้นวานนี้ (23 พ.ค.) ร่วงรับผู้ว่าฯ คนใหม่ทันที
วานนี้ (23 พ.ค.) ราคาหุ้น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) ปรับตัวลดลงทันที 3.89% หรือ 0.35 บาท ที่เปิดตลาดซื้อขาย มาอยู่ที่ราคา 8.65 บาท มีมูลค่าการซื้อขาย 932 ล้านบาท หลังจากเกิดความวิตกว่า นโยบายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่จะไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ BTS ที่จะหมดอายุในปี 2029 อาจส่งผลกระทบต่อบริษัท และบริษัทในเครือ
ทั้งนี้ ราคาหุ้น BTS ปรับตัวลดลง ตลาดการซื้อขายทั้งวันมีราคาต่ำสุดที่ 8.65 บาท ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 8.75 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 2.78% มีมูลค่าการซื้อขาย 1.65 พันล้านบาท ในขณะที่มี BIG LOT จำนวน 3.74 ล้านหุ้น ที่ราคา 8.55 บาท คิดเป็นมูลค่า 32.31 ล้านบาท
บล.กรุงศรี เชื่อนโยบายไม่กระทบราคาเป้าหมาย
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า ยังคงคำแนะนำซื้อ BTS และ TP ที่ 12.6 บาท แม้ราคาหุ้นอาจปรับตัวลงจากความกังวลว่า หนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่คือ ไม่ต่อสัมปทานกับ BTS ในปี 2029 ซึ่งประเด็นนี้ไม่กระทบ TP เนื่องจากใช้สมมติฐานว่า BTS จะไม่ได้ต่อสัมปทานใน 2029 โดยสัญญากับ KT ระบุว่าสายหลักจะดำเนินการภายใต้สัญญา O&M หลังหมดสัมปทาน (สมมติฐานกรณีฐานของเรา) TP ของบริษัทจึงไม่ได้รับผลกระทบหากไม่มีการขยายสัมปทาน
บล.กรุงศรี ระบุว่า ความกังวลประเด็นการต่อสัมปทานอาจกลับมาอีกครั้ง โดยความกังวลเพิ่มขึ้นว่า หนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ คือไม่ต้องการต่อสัมปทานกับ BTS หลังสัมปทานจะหมดอายุในปี 2029 (หรือ 7 ปีต่อจากนี้) รวมถึงต้องการคงค่าโดยสารในระดับ 20-25 บาทตลอดสายสีเขียว รวมส่วนต่อขยาย
นโยบายจะสร้างแนวโน้มเชิงลบต่อหุ้น BTS อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในระยะสั้น อาจเป็นไปได้ว่าผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่สามารถทำนโยบายได้ตามที่หาเสียงไว้ แต่มีข้อโต้แย้งที่อาจลดความกังวลของตลาด ประเด็นแรก valuation การต่อสัมปทานของ BTS หลังสัมปทานปัจจุบันหมดอายุลงในปี 2029 ไม่กระทบ valuation ของ บล.กรุงศรี TP ที่ 12.4 บาท ซึ่งอ้างอิงสัญญาเดิมระหว่าง BTS และ KT ที่ BTS จะดำเนินงานสายหลักจนกระทั่ง ธ.ค. 2024 และจะดำเนินงานสายหลักในสัญญา O&M จนกระทั่ง ธ.ค.2042 ประเด็นที่สอง การต่ออายุสัมปทานจะเพิ่มมูลค่าอีก 2.9 บาท ให้ TP ที่ 12.4 บาท และมองว่าการต่อสัมปทานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับ KT เป็นเพราะ KT ยังมีหนี้ค้างชำระหากไม่มีการต่อสัญญา ในระยะสั้น KT ต้องชำระเงินอย่างน้อย 3.2 หมื่นล้านบาทให้ BTS
สำหรับงาน M&E และ O&M ตั้งแต่ปี 2019 ในระยะยาว KT ยังมีหนี้อีกกว่า 5.0 หมื่นล้านบาท จากงานโยธาของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งมองว่า KT ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากขยายสัญญาสัมปทาน ประเด็นที่สาม ราคาค่าโดยสารใหม่ไม่เกิน 65 บาทไม่แพง หากมองในแง่ค่าโดยสารต่อกิโลเมตร ใน figure 1 เห็นได้ว่าราคาสูงสุดต่อ กม. ของสายสีเขียวเป็นอันดับที่ 4
คงคำแนะนำซื้อ TP 12.6 บาท
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวนี้จะกดดันราคาหุ้นนานแค่ไหน ในอดีตไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกับ BTS แต่หากรณีที่มีความใกล้เคียง คือ กรณีของ BANPU กับโรงไฟฟ้าหงสา ปี 2007 ซึ่งราคาหุ้น BANPU ปรับตัวลงหลังคำพิพากษา 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ ราคาหุ้นกลับมาซื้อขายตามราคาพื้นฐาน เราจึงมองการปรับตัวลงของราคาหุ้น BTS จากความกังวลสัมปทานเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ
บล.กสิกร มองเป็น sentiment ลบต่อหุ้น
ด้าน บล.กสิกรไทย ระบุว่า หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ ชนะการเลือกตั้ง ติดตามนโยบายหาเสียงที่จะไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ BTS ที่จะหมดอายุในปี 2029 อาจเป็น sentiment ลบต่อหุ้น BTS รวมถึงบริษัทในเครือ VGI-PLANB
UOBK มองจะได้รับแรงกดดันจากอายุสัมปทานที่เหลือน้อย
ขณะที่บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ประเมินการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีโอกาสหนุนให้เกิดการเลือกตั้งใหญ่ จากชัยชนะของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (>50%) เหนือกว่าผู้สมัครรายอื่นอย่างชัดเจน ส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ประเมินการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศมีโอกาสเกิดขึ้นในปีนี้ แม้คะแนนนิยมรัฐบาลถดถอย แต่การเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าฯ กทม. ทำให้กลไกการควบคุมฝูงชน และการห้ามการชุมนุมน่าจะทำได้ยากขึ้น (ส่งผลให้ระยะยาวรัฐบาลจะยิ่งเสียความนิยม) ขณะที่โมเมนตัมของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงส่งต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล
สำหรับผลต่อบริษัทจดทะเบียนประเมินว่า
1) กลุ่มค้าปลีกอาจฟื้นตัวโดยมองข้ามงบไตรมาส 2/65 ที่ชะลอไปยังครึ่งปีหลัง
2) หุ้นกลุ่มรับงานภาครัฐ โดยเฉพาะรับเหมา อาจฟื้นตัวระยะสั้น แต่ระยะกลางเป็นลบความไม่แน่นอน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐที่จะเกิดขึ้น และต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใกล้เลือกตั้ง
3) BTS จะได้รับแรงกดดันจากอายุสัมปทานที่เหลือน้อย และแนวคิดของผู้ว่าฯ คนใหม่ที่ไม่สนับสนุนการต่อสัมปทาน