xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกไม่พอ CPN เคลื่อนทัพจะเอาดีโรงแรม เคลียร์ทาง CENTEL

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - จับตาบทรุกครั้งใหม่ของซีพีเอ็น ลงสนามธุรกิจโรงแรมเต็มตัว หวังสร้างมิกซ์ยูสสมบูรณ์แบบ ทุ่มงบ 1 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีจากนี้ ผุดโรงแรม 35 แห่ง ใน 27 จังหวัด ปั้น 3 แบรนด์ตอบโจทย์ทุกเซกเมนต์ ดันสัดส่วนรายได้ 10% ยันไม่ซ้ำซ้อนกับเซ็นเทลแน่นอน

บทรุกครั้งใหม่และเป็นการเคลื่อนทัพที่สำคัญไม่น้อยของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ที่ย่างก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมอย่างเต็มตัว
 
เนื่องจากถ้าเป็นธุรกิจโรงแรมรีสอร์ตที่พักแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นความรับผิดชอบของ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) หรือเซ็นเทล/CENTEL ที่เป็นธุรกิจอีกขาหนึ่งของตระกูลจิราธิวัฒน์ที่แข็งแกร่งไม่น้อย

ขณะที่ใครๆ ก็รู้ว่า ซีพีเอ็น อยู่ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์การค้าหรือรีเทลมาโดยตลอดจนเป็นเจ้าตลาด แต่การขยับตัวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมจึงเป็นความท้าทายซีพีเอ็นอย่างมาก
 


ก่อนหน้านี้ซีพีเอ็นเคยชิมลางธุรกิจโรงแรมมาแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง และก็ถือว่าไปได้ดีเช่นกันก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ระบาด คือโรงแรมเซ็นทาราแอนด์คอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการแรก และอีกแห่งคือโรงแรมฮิลตัน พัทยา และมีรายได้จากโรงแรมทั้งสองนี้เพียงสัดส่วนแค่ 2% เท่านั้นเองจากรายได้รวมบริษัท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจหลักคือรีเทลหรือศูนย์การค้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงด้วยงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท

แต่เป้าหมายหลักของซีพีเอ็น ต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้โรงแรมมากขึ้น อย่างน้อยเป็น 10% ในเบื้องต้นนี้

แล้วทำไม ซีพีเอ็น จึงต้องกระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ทั้งๆ ที่ เซ็นเทล ก็ทำได้ดีอยู่แล้ว และจะไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับธุรกิจหลักของทางเซ็นเทลหรือไม่

นั่นก็เพราะว่า กลยุทธ์หลักของซีพีเอ็นจากนี้ก็คือ การพุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูส (Mixuse) สมบูรณ์แบบมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งแต่เดิมโมเดลมิกซ์ยูสของซีพีเอ็นคือ การพัฒนาศูนย์การค้าที่มีทุกอย่างในศูนย์ฯ แห่งเดียวตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตของผู้บริโภค

แต่มิกซ์ยูสโมเดลใหม่ของซีพีเอ็นก็คือ การพัฒนาและผสมผสานธุรกิจบริการหลายอย่างในโครงการเดียวกันเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้บริโภค นักเดินทาง นักธุรกิจ นักชอปปิ้ง ซึ่งก็คือ ต้องมีทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า รีเทล โรงแรม คอนเวนชันฮอลล์ รวมไปถึงที่อยู่อาศัยหรือเรสซิเดนเชียลทั้งคอนโดมิเนียมแนวสูง และหมู่บ้านจัดสรรแนวราบ

ทั้งนี้ ตามแผนงาน 5 ปีของซีพีเอ็น วางแนวรุกมิกซ์ยูสไว้อย่างรอบด้าน


นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของซีพีเอ็น เปิดเผยถึงแผนงาน 5 ปีว่า ช่วง 5 ปีจากนี้ (ปี 2565-2569) ซีพีเอ็นวางงบลงทุนรวมไว้ที่ 120,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการใหม่และปรับปรุงโครงการเก่า โดยจะเพิ่มบทบาทและให้ความสำคัญมากขึ้นต่อธุรกิจอื่นอีก 3 สาขาที่เป็นมิกซ์ยูสมากขึ้น รวมเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ศูนย์การค้า ซึ่งเป็นรายได้หลักอยู่ที่ 70%, ส่วนกลุ่มธุรกิจอีก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารสำนักงาน กลุ่มโรงแรม และกลุ่มที่อยู่อาศัย รวมสัดส่วน 30%

โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจนั้นมีแผนหลักในช่วง 5 ปี ดังนี้ 1. ศูนย์การค้าหรือรีเทล จากปัจจุบันมี 36 โครงการ ใน 24 จังหวัด จะพัฒนาเพิ่มอีก 14 โครงการ รวมเป็น 50 โครงการ, 2. ธุรกิจที่พักอาศัย ปัจจุบันมี 23 โครงการ จะพัฒนาเพิ่มอีก 45 โครงการ รวมเป็น 68 โครงการ, 3. ธุรกิจอาคารสำนักงาน ปัจจุบันมี 10 โครงการ จะพัฒนาเพิ่มอีก 3 โครงการ รวมเป็น 13 โครงการ และ 4. ธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันมี 2 โครงการ จะพัฒนาเพิ่มอีก 35 โครงการ รวมเป็น 37 โครงการ

ซีพีเอ็นเองมองว่า โรงแรม ก็ถือเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประการหนึ่ง เหมือนกับศูนย์การค้าหรือรีเทลทั่วไป


สำหรับรายละเอียดแผน 5 ปีของกลุ่มโรงแรมนั้น นางสาววัลยาย้ำว่า กลุ่มโรงแรมนี้ วางงบไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนอีก 37 โครงการ กระจายไปใน 27 จังหวัด ด้วยห้องพักรวมมากกว่า 4,000 ห้องภายในปี 2569

โดยจะขับเคลื่อนด้วย 3 กลยุทธ์หลัก เพื่อบุกเบิก ‘เศรษฐกิจการเดินทาง’ (Travel Ecosystem) คือ
1. Complete Travel Ecosystem : มองธุรกิจโรงแรมมากกว่าการท่องเที่ยว แต่คือการเดินทางที่จะตอบโจทย์นักเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ในทุกจุดประสงค์ ทั้งการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน, เพื่อการติดต่อธุรกิจ หรือเพื่อการทำงาน และพักอาศัย หรือการผสมผสานทุกจุดประสงค์เข้าหากัน

2. Create new standard of travel lifestyle : สร้างมาตรฐานการพักโรงแรมทั่วประเทศ ด้วยแบรนด์โรงแรมครอบคลุมทุกเซกเมนต์ พร้อมการ Synergy กับธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา และในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป

3. Co-Creating with Communities : ผนึกกำลังชุมชน ส่งเสริมอัตลักษณ์ ต่อยอดและกระจายรายได้สู่ธุรกิจในท้องถิ่น
กลยุทธ์การผนึกกำลังกับเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปด้วยนั้น ก็เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าซีพีเอ็นไม่ได้ไปแข่งขันกับเซ็นทาราแม้แต่น้อย แต่จะเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันมากกว่า ซึ่งเนื้อหาใจความหลัก ก็คือ ซีพีเอ็นเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโรงแรม ขณะที่ทางเซ็นทาราจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารโรงแรมให้

เนื่องจากซีพีเอ็นมีโครงการต่างๆ อยู่ในมือบนทำเลที่ดีอยู่แล้วในศูนย์การค้าเซ็นทรัลหรือโรบินสันไลฟ์สไตล์ ตลอดจนโครงการคอมมูนิตีมอลล์ของสยามฟิวเจอร์ที่เป็นบริษัทในเครือ ซึ่งจะมีหลากหลายโครงการเดิมที่ยังมีศักยภาพและมีที่ดินรองรับในการพัฒนาอยู่แล้ว มิใช่เป็นการสร้างโรงแรมแยกออกมาโดดๆ


นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเซ็นทารากับเซ็นทรัลพัฒนาถือเป็นการผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับธุรกิจโรงแรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลายปีที่ผ่านมา เซ็นทาราได้ร่วมมือกับเซ็นทรัลพัฒนาในการบริหารและเปิดให้บริการโรงแรม “Centara Hotel & Convention Centre Udon Thani” และนับต่อไปจากนี้เรามีความยินดีที่จะได้ทำงานร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนาในโครงการใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตควบคู่กันไป อีกทั้งยังตรงตามกลยุทธ์ด้านการเติบโตของเซ็นทารา ที่มุ่งมั่นมอบประสบการณ์การเข้าพักที่แสนอบอุ่นให้แก่นักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในหลากหลายจุดหมายปลายทางทั่วประเทศ

ในปีนี้จะเริ่มต้นจากโรงแรม“Centara Korat” ที่เราจะร่วมกันพัฒนาให้เป็น The Place to Be และเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่ง ตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักเดินทาง ด้วยมาตรฐานและการให้บริการระดับ International Standard ของเซ็นทารา ควบคู่ไปกับความเชี่ยวชาญของเซ็นทรัลพัฒนา ในด้านการพัฒนาโครงการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่แต่ละแห่งได้อย่างดีเยี่ยม เรายินดีที่การจับมือร่วมกันในวันนี้จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีนับจากนี้”


นายภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Property บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็นหัวหอกหลักในการบริหารจัดการกับโรงแรม กล่าวว่า “เราเล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาต่อยอดธุรกิจโรงแรมจากเดิมที่เรามีอยู่แล้ว โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักยภาพของเมืองและจังหวัดต่างๆ สร้าง Big Impact ในระดับประเทศ ดังเช่นธุรกิจอื่นๆ ของเซ็นทรัลพัฒนา ด้วยจุดแข็งของธุรกิจโรงแรมที่มีทำเลดี, มีแบรนด์ที่ตอบโจทย์ทุกเซกเมนต์ และความร่วมมือกันในธุรกิจของเซ็นทรัลพัฒนาเองและในกลุ่มเซ็นทรัล ทำให้การมาพักอาศัยที่โรงแรมของเราเป็น Seamless Journey ที่แตกต่างจากโครงการอื่นที่มีอยู่ในตลาด” โดยวางแผนปักหมุดโลเกชันหลักทั้งในพื้นที่ที่มีโครงการอยู่แล้วและในที่ใหม่ๆ เช่น โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ศรีราชา, ชลบุรี และเชียงราย เป็นต้น”

การรุกคืบโรงแรมของซีพีเอ็นในครั้งนี้ เตรียมการด้วยการพัฒนาโรงแรมถึง 3 แบรนด์หลักด้วยกัน เพื่อกระจายกำลังในการครอบคลุมตลาดทุกเซกเมนต์ ประกอบด้วย

1. ‘Centara’ แบรนด์ระดับ Upscale เป็นโรงแรมระดับฟูลเซอร์วิส (Full Service) ส่วนระดับราคาห้องพักประมาณ 2,000 บาทขึ้นไปต่อคืน มีเป้าหมายพัฒนาจำนวน 4 แห่ง เช่น Centara Korat, Centara Ayutthaya, Centara Ubon

2. ‘Centara One’ แบรนด์ระดับ Lifestyle Midscale ส่วนระดับราคาห้องพักประมาณ 1,700-2,000 บาทต่อคืน มีเป้าหมายพัฒนาจำนวน 8 แห่ง เช่น Centara One Rayong

ทั้งสองแบรนด์ดังกล่าวนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ซีพีเอ็นได้นำคอนเซ็ปต์ ‘Bleisure’ มาใช้ คือ Business + Leisure เพื่อตอบโจทย์ทั้งการพักผ่อนและการทำงานอีกด้วย

3. ‘Go! Hotel’ แบรนด์ระดับ Premium Budget ส่วนระดับราคาห้องพักประมาณ 1,000 บาทต่อคืน มีเป้าหมายพัฒนาจำนวน 25 แห่ง มีแผนเปิดแล้ว 7 ทำเล คือ โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ศรีราชา, ชลบุรี และเชียงราย

ขณะที่แบรนด์ ‘Centara One’ กับแบรนด์ ‘Go! Hotel’ ซึ่งเป็นการต่อยอดแบรนด์มาจากธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัลกรุ๊ปในเวียดนาม ถือเป็นแบรนด์ใหม่ แต่จะเป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นกับโครงการของซีพีเอ็นเท่านั้น


แผนการลงทุนนี้ ซีพีเอ็นมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยยังมีศักยภาพและมีการเติบโตในระยะยาว แม้ทุกวันนี้จะเผชิญกับปัญหาโควิดระบาด ส่งผลกระทบต่อตลาดท่องเที่ยวตกลงไปอย่างมาก ซึ่งก็เป็นไปเหมือนกันทั่วโลก แต่ในระยะยาวแล้วยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของประเทศไทยและยังคงสร้างรายได้หลัก

นายภูมิกล่าวว่า เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมในภาพรวมมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปีนับต้ั้งแต่ปี 2555-2565 ส่วนล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2565 ภาพรวมการท่องเที่ยวในเมืองไทยของคนไทยมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวแล้วมากกว่า 30 ล้านคนครั้ง เมื่อเทียบกับช่วงเมษายนปี 2562 ที่ก่อนเกิดโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวกันประมาณ 38 ล้านคนครั้ง ซึ่งหมายความว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเทศอื่นในแง่ของการท่องเที่ยว

อีกทั้งภาวะโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดกระแสการทำงานแบบใหม่ที่เรียกว่า เวิร์กฟรอมโฮม (Work from Home) หรือเวิร์กฟรอมเอนีแวร์ (Work from Anywhere) รวมไปถึงเวิร์กเคชัน (Workation) ก็เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้โรงแรมมีกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นด้วย

“สำหรับโครงการแรกที่พร้อมเปิดตัวในเดือน ก.ย. 65 นี้คือ Centara Korat จำนวน 218 ห้องซึ่งจะเป็นเครือโรงแรม (Chain Hotel) ระดับ International แห่งแรกของเมือง ซึ่งมี เซ็นทรัล โคราช และคอนโดฯ Escent โคราช อยู่แล้ว คาดว่าทั้งโครงการมิกซ์ยูสนี้จะมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยโคราชเป็น gateway ไปสู่ภาคอีสาน ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาได้บุกเบิกโครงการมิกซ์ยูส เซ็นทรัล โคราช เอาไว้แล้ว เราพบว่าตลาดโรงแรมในจังหวัดนี้ยังมีโอกาสเติบโต และการเข้าพักอาศัยเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะนานขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวโคราช, นักเดินทางจากจังหวัดอื่นทั้งแบบเดินทางคนเดียวและแบบครอบครัว และที่น่าสนใจคือกลุ่มเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ และนักธุรกิจที่มีเป้าหมายในจังหวัดอื่นๆ เช่น บุรีรัมย์, อุดรธานี และขอนแก่น เป็นต้น และโคราชยังเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ด้วย” นายภูมิกล่าว


นอกจากนี้ โครงการโรงแรม Centara Korat ยังเติมเต็มไลฟ์สไตล์การพักอาศัยและใช้บริการโรงแรม ตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ของลูกค้าในแบบ The best hotel and top dining destination in Korat ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพักในห้องพักที่สามารถรองรับลูกค้าได้แบบ Multi-Generation, รองรับการจัดงานและการประชุมด้วยห้องที่มีฟังก์ชันครบครันทันสมัย และครั้งแรกของการรับประทานอาหารใน ‘House of Kin’ all-day & all-generations buffet, พร้อมเพลิดเพลินกับ Rooftop restaurant ที่มาพร้อมวิวเมืองโคราช และพลาดไม่ได้กับการชอปปิ้งในศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช อีกทั้งเรายังมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิก The 1 สามารถใช้คะแนนได้ทั้งในส่วนร้านอาหารในโรงแรม หรือแลกคะแนน The 1 เป็น Centara The 1 ได้ง่ายๆ ผ่าน The 1 Application ในการชำระค่าห้องพักได้อีกด้วย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า แผนการพัฒนาธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศครั้งนี้ของซีพีเอ็นจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย สู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ทั้งในเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ต้องการ ‘ฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยว’ สู่การ “ฟื้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”




ขณะนี้ทางกระทรวงฯ มีแผนการพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่ม Staycation, Workation และ Digital Nomad นับเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง การขยายโครงการโรงแรมรวมถึงต่อยอดโครงการมิกซ์ยูสของเซ็นทรัลพัฒนาในครั้งนี้จะส่งผลบวกต่อแผนการพัฒนาดังกล่าวของกระทรวงฯ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาสที่ 1/65 ของซีพีเอ็น มีรายได้รวม 8,072 ล้านบาท ลดลง 15% และกำไรสุทธิ 2,328 ล้านบาท ลดลง 39% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/64 อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานหลักที่ไม่รวมรายการที่มิได้เกิดขึ้นเป็นประจำและผลกระทบจากมาตรฐานรายงานทางการเงิน บริษัทฯ มีรายได้และกำไรที่เติบโตขึ้น 23% และ 72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

นี่คือแผนงานในการรุกคืบกลุ่มธุรกิจโรงแรมอย่างเต็มตัวของ ซีพีเอ็น ที่คิดจะหันมาเอาดีทางธุรกิจโรงแรมท่ามกลางตลาดที่เปลี่ยนไป











กำลังโหลดความคิดเห็น