xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ปลื้ม MPI มี.ค.แตะ 109.32% โตสุดรอบ 12 เดือน ส่งออก-เปิด ปท.หนุนไปต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ปลื้ม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค. 65 แตะ 109.32% สูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เม.ย. 64 เหตุส่งออกโตต่อเนื่อง ล่าสุด มี.ค.โตสุดในรอบ 30 ปี มั่นใจเปิดประเทศ บาทอ่อนหนุนขยายตัวต่อ “สศอ.” จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิด 1. การปรับโควิด-19 จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น 2. อัตราเงินเฟ้อจากระดับราคาน้ำมันและสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3. การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 109.32 ซึ่งนับเป็นค่าดัชนีฯ ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 0.12% ขณะที่ MPI ไตรมาสแรกปี 2565 105.16% ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากภาคการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะเดือน มี.ค.ที่ขยายตัว 19.54% สูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และเปิดประเทศส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้นตามลำดับ

“หากพิจารณาจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือนมีนาคมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.66% และ 11.52% ตามลำดับในการเตรียมการผลิตต่อไป รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่ายังส่งสัญญาณบวกของทิศทางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น การเปิดประเทศจะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น แต่ปัจจัยเงินเฟ้อยังคงต้องจับตาโดยเฉพาะจากระดับราคาพลังงานที่สูงและวัตถุดิบที่เริ่มกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้นด้วย” นายสุริยะกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนมีนาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 61.25% เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่มีปริมาณมากกว่าปีก่อน น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 17.51% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.86% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.17% เนื่องจากเกษตรกรได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกหลังราคาพืชผลเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม ฯลฯ เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.33% เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและอนุญาตให้มีการจำหน่ายในร้านอาหารและสถานบริการมากขึ้น เป็นต้น


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 68.77% สูงสุดรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่ เม.ย. 64 แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับ มี.ค. 64 ที่อยู่ระดับ 69.68% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสแรกอยู่ที่ 66.35% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 66.32% จากปัจจัยบวกของการส่งออกและคาดว่าจะทยอยโตขึ้นตามทิศทางการส่งออก

"สศอ.ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ( EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ควรระวัง 3 ด้าน ได้แก่ 1. การปรับโควิด-19 จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น 2. อัตราเงินเฟ้อจากระดับราคาน้ำมันและสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3. การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน" นายทองชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น