ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว นับจากวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยกเลิกมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ที่ระบุให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถเอกชนร่วมบริการจะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.เท่านั้น โดยให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และออกใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ ส่วน ขสมก.ให้ปรับบทบาทเป็นผู้ประกอบการเดินรถ (Operator) รายหนึ่ง และดำเนินการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการทั้งหมด ปรับปรุงเส้นทาง คุณภาพรถ ความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ... ถึงวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถึงไหนแล้ว และคน กทม.จะได้ใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพ ค่าโดยสารเป็นธรรม เมื่อใด
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะผู้กำกับดูแล ได้เริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลังจาก ครม.มีมติเมื่อปี 2559 แต่ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหารถเมล์ไทยที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานมากนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
@เปิดปม ต้นตอปัญหารถเมล์...ทำไมต้องปฏิรูป
“จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ฉายภาพต้นตอปัญหาคุณภาพรถเมล์ไทยสุดแย่ ไม่ปลอดภัย ทำไม "ขับซิ่ง...วิ่งแรงเพื่อแย่งผู้โดยสาร" ด้วยจากมติ ครม. เมื่อปี 2526 ที่การออกใบอนุญาตรถเมล์ในเขต กทม.และปริมณฑลให้เฉพาะ ขสมก. เรียกง่ายๆ ขสมก.เป็นผู้ผูกขาดใบอนุญาตเดินรถเมล์ทั้งหมด แต่พบว่า ขสมก.ดำเนินการเองไม่ไหว จึงมีการทำสัญญาให้ผู้ประกอบการเอกชนมาเดินรถร่วมกับ ขสมก.ในบางเส้นทาง นี่คือ!!! จุดกำเนิดรถร่วมฯ เอกชน
โดยบางเส้นทางมีเอกชนเข้ามาเดินรถร่วมกับ ขสมก.หลายราย เช่นสาย 8 มีถึง 4 บริษัทที่ ขสมก.ให้สัญญาเอกชนเดินรถร่วม ทำให้เกิดการวิ่งแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสารกันจนไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เอกชนส่วนใหญ่เป็นรายย่อยจึงไม่มีทุนในการปรับเปลี่ยนรถใหม่ รถที่ให้บริการจึงมีสภาพเก่า และมักจะพบเห็นรถเมล์จอดเสียริมถนนอยู่เป็นประจำ
จนกระทั่งปี 2559 ที่ ครม.ยกเลิกมติเดิม และให้ ขบ.ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนโดยตรง ในปี 2560 ขบ.ได้ให้ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ให้มีความเหมาะสม เกิดการต่อเชื่อมกันเป็นโครงข่าย และเป็นฟีดเดอร์เข้าถึงรถไฟฟ้า รวมถึงไปเข้าถึงแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้สะดวก พร้อมกับดูเรื่องโครงสร้างราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งประชาชนและสอดคล้องกับต้นทุนของผู้ประกอบการ
ที่สุดจึงได้แผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง 269 เส้นทาง ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติเป็นระบบ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ไม่ให้แย่งผู้โดยสาร
"ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายสำคัญ คือ ประชาชนต้องได้รับบริการที่สะดวก เส้นทางมีโครงข่ายเชื่อมต่อกัน ราคาค่าโดยสารถูก เช่น มีตั๋วเหมาราคาเดียวต่อวัน ขึ้นรถได้ไม่จำกัดเที่ยว ไม่จำกัดสาย
โดยปี 2562 ขบ.ได้ประกาศเพื่อออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการตามแผนปฏิรูป 269 เส้นทาง ซึ่ง ขสมก.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแจ้งว่าต้องการประกอบการเดินรถจำนวน 107 เส้นทาง ส่วนที่เหลือให้เอกชนดำเนินการ
ขณะที่ ขบ.กำหนดให้เอกชนรายเดิมที่ต้องการเดินรถต่อไปภายใต้แผนปฏิรูปต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไข คือให้ผู้ประกอบการแต่ละรายแจ้งความจำนงต่อ ขสมก.ให้ ขสมก.รับรองการเป็นผู้ให้บริการเดินรถในเส้นทางนั้นๆ ก่อน นำมายื่นคำขอใบอนุญาตให้ตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์
ซึ่งมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. ต้องชำระหนี้ค้างกับ ขสมก.ทั้งหมด 2. กรณีที่มีเอกชนหลายรายในเส้นทางให้รวมกันเป็นรายเดียว ตามแนวทางปฏิรูป 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ และ 3. ต้องไม่กระทำผิดตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการ
เดือนกรกฎาคม 2562 ขบ.ประกาศเรื่องการออกใบอนุญาตกำหนดให้ยื่นภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการเอกชนที่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ และยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นจำนวน 54 เส้นทาง ซึ่ง ขบ.ได้ทยอยออกใบอนุญาตประกอบการเดินรถโดยสาร
แต่...ยังมีอีกประมาณ 40 เส้นทางที่เอกชนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ เช่น ไม่สามารถชำระหนี้ให้ ขสมก.ได้ หรือไม่สามารถรวมตัวกันเป็น 1 รายได้ เพราะมีเจ้าของรายย่อยหลายรายเกินไป ซึ่งมีกว่า 10 เส้นทางที่เอกชนเลิกวิ่งไปแล้วเพราะขาดสภาพคล่อง
@เตรียมออกใบอนุญาตผู้ประกอบการใหม่ 77 เส้นทาง
ขบ.จึงดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยนำ 40 เส้นทางที่ผู้ประกอบการเดิมไม่ยื่นขอใบอนุญาต รวมกับอีก 37 เส้นทางใหม่ ตามการศึกษาของ TDRI ที่เพิ่มเส้นทางให้ครอบคลุมไปถึงย่านหมู่บ้าน ชุมชนเกิดใหม่ ที่ไม่มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ รวมทั้งหมดเป็น 77 เส้นทาง ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป ให้ผู้ประสงค์จะขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารยื่นคำขออนุญาตประกอบการขนส่ง เส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง
โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งนั้น ตามประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไปจะมีทั้งเกณฑ์การประเมินด้านคุณภาพการให้บริการ การใช้รถที่ผลิตหรือประกอบภายในประเทศ สถานที่เก็บซ่อมและบำรุงรักษารถ แผนบริหารจัดการเดินรถ ความน่าเชื่อถือของการประกอบการขนส่งพิจารณาจากทุนในการประกอบการการพัฒนารูปแบบบริการโดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลหรือ AI มาใช้ในการบริหารจัดการและควบคุมกำกับดูแลการเดินรถ
ที่สำคัญคือ ต้องใช้รถพลังงานสะอาด ลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ ดังนั้น การเสนอใช้รถที่ส่งเสริมพลังงานสะอาด ใช้เครื่องยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ (เช่น มาตรฐานยูโร รถไฟฟ้า ฯลฯ) หรือเป็นรถใหม่ จะได้คะแนนดีกว่าใช้เครื่องยนต์ดีเซล หรือเป็นรถที่ปรับปรุงตัวถังหรือดัดแปลงเครื่องยนต์ เป็นต้น กรณีที่มีผู้ยื่นตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป จะเลือกรายที่มีคะแนนสูงสุด และเสนอแผนในการให้บริการที่ดีที่สุดให้ประชาชน
“ผู้ประกอบการฯ ต้องมีแผนจัดหารถได้ตามกำหนด รวมไปถึงแผนปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนอย่างไร ซึ่ง ขบ.จะแนบแผนนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของใบอนุญาตเพื่อประกอบการประเมิน”
เช่น การติดตั้ง GPS เพื่อกำกับดูแลการเดินรถให้เป็นไปตามเวลา, ติดตั้งระบบ E-Ticket, ติดตั้งกล้อง CCTV ภายนอก/ภายในรถ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร กรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือมีเหตุทำร้ายใดๆ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้บริการ จะสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง และยังสามารถใช้เป็นการป้องปรามไม่ให้มีการกระทำผิดได้อีกทาง เป็นสิ่งที่รัฐอยากได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีส่วนทำให้การบริหารจัดการของเอกชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมาก
@ปลายปี 65 รถเมล์ไฟฟ้าใหม่เอี่ยม 700-800 คัน วิ่งพรึ่บ 77 เส้นทาง
“จิรุตม์ วิศาลจิตร” กล่าวว่า ขณะนี้ ขบ.ได้เปิดยื่นคำขอประกอบการครบทั้ง 77 เส้นทาง และคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางมีมติเห็นชอบแล้ว อยู่ในขั้นตอนเตรียมออกใบอนุญาตโดยกำหนดระยะเวลาในการบรรจุรถ และเริ่มดำเนินการภายใน 180 วัน นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง กรณีติดปัญหาคณะกรรมการกลางฯ ให้อำนาจ ขบ.ในการขยายให้อีกไม่เกิน 60 วัน รวมแล้วไม่เกิน 240 วัน กรณีรายใดไม่สามารถบรรจุรถได้ภายในเวลาที่กำหนด จะยกเลิกใบอนุญาตและนำเส้นทางนั้นออกประกาศทั่วไปให้ยื่นคำขอใหม่
เอกชนที่เสนอและได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการ 77 เส้นทาง จะต้องจัดหารถมาให้บริการตามแผนตั้งแต่กลางปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้มีรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งให้บริการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 700-800 คันเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการ 54 เส้นทางเดิมที่ได้ใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ โดยใช้รถเมล์ใหม่ หรือรถจดไม่เกิน 2 ปีสัดส่วนใช้รถเก่า 30% แต่อายุรถต้องไม่เกิน 25 ปี รองรับผู้โดยสารใช้วีลแชร์ 20% และติด GPS ทุกคันเพื่อควบคุมกำกับเส้นทาง ในปีแรกจะต้องนำรถใหม่มาวิ่งบริการในสัดส่วน 30% ปีที่ 2 สัดส่วน 50% และปีที่ 3 สัดส่วน 70% หรือให้เวลาในการปรับตัวประมาณ 3-4 ปี
ดังนั้น ในปี 2565 กลุ่ม 54 เส้นทางจะมีการเปลี่ยนรถใหม่ถึง 70%
รถใหม่จะมี GPS มีกล้อง CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลด้านผู้โดยสาร ว่ามีผู้โดยสารใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่น ช่วงไหนคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ แตกต่างจากเดิมที่ใช้ระบบ Manual
@ ตั้ง KPI 12 ข้อ คุมเข้มคุณภาพ ปรับโฉมบริการ ผู้ประกอบการเดิมรายย่อย-ทุนน้อย เปลี่ยนมือสู่กลุ่มทุนใหญ่
หากย้อนกลับไปในอดีตที่ ขสมก.เป็นเจ้าของใบอนุญาต และทำสัญญาย่อยกับเอกชนเข้าร่วมเดินรถ จะพบว่ามีปัญหาการเปลี่ยนเอกชนคู่สัญญาบ่อย แต่ละเส้นทางมีคู่สัญญาหลายราย มีรถหลากหลายประเภท รถแอร์ รถร้อน รถมินิบัส เห็นว่าสัญญาที่ได้จาก ขสมก.แม้จะมีระยะ 7 ปี แต่ก็ได้ต่ออายุมาตลอด จึงไม่มีการปรับปรุงบริการ บางรายเอาสัญญาไปให้เช่าต่อ สายเดียวมีหลายเจ้าวิ่งแข่งเพื่อแย่งผู้โดยสาร เกิดอุบัติเหตุบ้าง ขณะที่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถกำกับดูแลการให้บริการเป็นไปตามสัญญา ส่วน ขบ.เองไม่สามารถเข้าไปล้วงลูกได้ เพราะติดที่ ขสมก.ที่เป็นหน่วยงานรัฐ เป็นผู้ถือใบอนุญาต
“จิรุตม์ วิศาลจิตร” กล่าวว่า การปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทางแน่นอน โดย ขบ.มีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด (KPI) 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น การเดินรถตรงตามเส้นทางที่กำหนด การเดินรถครบตามจำนวนเที่ยวที่กำหนด การเดินรถตรงตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะได้ผู้ประกอบการขนส่งที่มีบริการที่ดีสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น
อีกจุดแข็งที่จะทำให้พลิกโฉมรถเมล์ไทย คือ การมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่มีความมั่นคงทางการเงิน ที่สามารถจัดหารถใหม่ มีอู่จอดที่พักรถ มีระบบการซ่อมบำรุงรักษาที่มีมาตรฐาน และการใช้ระบบ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ และกรณีที่เอกชนรายใดได้ใบอนุญาตหลายเส้นทางหรือเอกชนอาจจะรวมกลุ่มกันเพื่อปรับระบบการเดินรถ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ AI วิเคราะห์การบริการให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารได้
“ขบ.นำทุกปัญหาในอดีตมาเป็นบทเรียน และแก้ไขปรับปรุงกำหนดเป็นเงื่อนไขใหม่ ที่ยกระดับมาตรฐานบริการ เพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจมากที่สุด”
@ เตือน! ขสมก.เร่งปรับปรุงบริการ 107 เส้นทาง
ส่วน ขสมก.มี 107 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมจัดหารถใหม่ แต่เพราะมีข้อจำกัด มีขั้นตอน การจัดหาล่าช้า ไม่คืบหน้า ซึ่งหาก ขสมก.ไม่เร่งปรับตัวเองจะทำให้ประชาชนเห็นความแตกต่าง หลังจากผู้ประกอบการเอกชนนำรถเมล์ใหม่มาวิ่งให้บริการเพิ่มมากขึ้นเป็นการลงทุนของเอกชนเองทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไข กติกา ค่าโดยสารที่รัฐกำหนด ซึ่งเอกชนสามารถรวมตัวกันกำหนดแผนการตลาด ทำ "ตั๋ววัน ตั๋วเที่ยว" รวมถึงให้ส่วนลดต่างๆ สุดท้ายประชาชนจะหันไปใช้รถเอกชนที่ใหม่กว่า มีคุณภาพดีกว่า
@ ชงคมนาคม-คลัง ขยายบัตรสวัสดิการ จ่ายค่าโดยสารรถร่วมเอกชน
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถปรับอากาศรุ่นใหม่คือ 15 -20 -25 บาท (ตามระยะทาง) โดยเริ่มต้นที่ 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และมากกว่า 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท
กระทรวงคมนาคม และ ขบ. ส่งเสริมให้มีการใช้ระบบตั๋วร่วม ซึ่งอาจจะเริ่มจากเส้นทางในเครือข่ายของเอกชนเอง หรือผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันหลายๆ เส้นทาง กำหนดเป็นตั๋วร่วมราคาเดียว เช่น 30 บาทขึ้นได้กี่เที่ยวก็ได้
“จิรุตม์ วิศาลจิตร” กล่าวว่า การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ครั้งนี้จะทำให้รถร้อนที่มีอยู่ในระบบทยอยลดลง ซึ่งเป็นรถที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเลือกใช้บริการมากกว่ารถปรับอากาศ เพราะมีค่าโดยสาร 8-10 บาท ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย โดย รมว.คมนาคมมีนโยบายให้ ขบ.ทำแผนเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาการชดเชยค่าโดยสารรถสาธารณะเอกชน ให้ผู้มีรายได้น้อยผ่านสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่กระทรวงการคลังดูแล เช่น อาจจะกำหนดเป็นจำนวนเที่ยวต่อเดือน หรือกำหนดวงเงินอุดหนุนต่อเดือน หรือจำนวนวันต่อเดือน เป็นต้น
ซึ่งขณะนี้ ขบ.ได้ทำแผนการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรคนจนเพื่อขนส่งสาธารณะทุกประเภทครอบคลุมทั้งของรัฐและเอกชน พร้อมสรุปความคืบหน้าการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ทั้งหมดเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อรายงาน ครม.ต่อไป
“เราต้องคิดว่าต่อไปรถเมล์เป็นแอร์หมด ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หากรถร้อนหายไป แล้วคนมีรายได้น้อยจะทำอย่างไร ซึ่งวัตถุประสงค์ของรมว.คมนาคม คือต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกประเภท ไม่ใช่เฉพาะบริการของรัฐ แต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังไม่ครอบคลุมระบบขนส่งที่เอกชนให้บริการ ดังนั้นการเสนอให้ขยายบัตรคนจนมาใช้กับรถร่วมเอกชนได้ จะเป็นการดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ตรงจุดมากกว่าการที่รัฐจะอุดหนุนงบประมาณ PSO
รถร้อน ขสมก.เก็บ 8 บาท แต่ต้นทุน 15 บาท รัฐอุดหนุนส่วนต่าง 7 บาทต่อคน ซึ่งผู้ใช้บริการรถร้อนไม่ได้มีเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น”
เป็นแนวคิด Single Network / Single Price ตามนโยบาย รมว.คมนาคม "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้สะดวกและประหยัดมากขึ้น ผู้รายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ หากรถโดยสารมีคุณภาพจะช่วยดึงดูดให้คนหันมาใช้งาน และปรับพฤติกรรมการเดินทางจากรถส่วนตัวเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งช่วยลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศและแก้ปัญหาการจราจรติดขัด
และนี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของ...การปฏิรูปเส้นทางที่คนไทยจะได้ใช้บริการรถรถเมล์ไฟฟ้าใหม่เอี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ AI บริหารจัดการ คนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่ผู้ประกอบการเอกชนนำหน้า ขสมก.ไปไกลแล้ว!!!