หลังจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดตั้งขึ้นเมื่อ 15 เม.ย. 2562 โดยเป็นการยกฐานะสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง ในสังกัดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ให้กรมรางฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานการกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้เป็นมาตรฐาน ในทางคู่ขนานได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ...เพื่อเป็นเครื่องมือให้กรมรางฯ ใช้วางกฎเหล็ก รวมถึงลงโทษการกระทำผิดต่างๆ เพื่อให้การบริการมีคุณภาพและคุ้มครองผู้โดยสารให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมุมมองเจตนารมณ์แรกเพื่อ “กำกับดูแล ส่งเสริมสนับสนุน”
กิจการรถไฟของประเทศไทยถือกำเนิดและอยู่คู่กับคนไทยมากว่า 124 ปี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหน้าที่ทั้งก่อสร้าง เดินรถ ซ่อมบำรุง ให้บริการแก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย....และรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัยใช้รถไฟเป็นเครื่องมือหาเสียง เรียกคะแนนจากประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางไปถึงระดับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
แรกเริ่มของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …นั้น คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ได้เคยมีมติให้ตรากฎหมายขึ้นมา และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในขณะนั้นมีการตรวจสอบพบว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ “กลายพันธุ์” จากการกำกับดูแล เป็นการเข้ามาบริหารจัดการควบคู่ไปด้วย โดยในบางมาตรากำหนดให้เส้นทาง ราง อาคารสถานี สถานที่ต่างๆ ที่ดินสองข้างทางของระบบการขนส่งทางรางเป็นกรรมสิทธิ์ของ “กรมราง” และยังสามารถออกใบอนุญาตให้เอกชนเข้ามาสร้างทาง สัมปทานเส้นทางและเดินรถในเส้นทางเดิมได้ด้วย ซึ่งเท่ากับว่า....“เป็นการแปรรูปกิจการขนส่งทางรางของรัฐไปให้เอกชน”
จึงเป็นเหตุทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (สร.รฟม.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า (สร.รฟฟท.) ไม่เห็นด้วย และได้ร่วมกันก่อตั้ง “สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.)” ขึ้นในปี พ.ศ. 2560 และได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐบาลหลายครั้ง แต่ไม่มีการรับฟัง การพิจารณากฎหมายก็ยังดำเนินการกันต่อไป จากเริ่มต้นไม่กี่มาตรา จนกลายเป็นร้อยกว่ามาตรา และส่อถึงการทำลายหลักการสาระสำคัญแนวคิดเดิมโดยสิ้นเชิง
กระทั่ง 20 ก.ค. 2564 ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนาการขนส่งทางรางและโครงการของหน่วยงานรัฐ, เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น ที่ได้รับประโยชน์จากการขนส่งทางราง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี การเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ สถานีขนส่งทางบก ศูนย์กระจายสินค้า ที่พักสินค้า ท่าเรือบก นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และค่าธรรมเนียมอื่น และการกำหนดประเภทของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร
กำหนดให้กรมการขนส่งทางรางจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โดยให้กรมการขนส่งทางรางมีอำนาจหน้าที่สำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อกำหนดแนวเส้นทางการขนส่งทางรางให้เป็นไปโดยเหมาะสมแก่การบริการสาธารณะและมีความปลอดภัยแก่ประชาชน และให้เสนอขอความเห็นชอบแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป และกำหนดให้ในการเสนอโครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางให้เจ้าของโครงการดำเนินการ เป็นต้น
@“สาวิทย์ แก้วหวาน” ปลุกคนรถไฟต่อสู้ รักษาสมบัติชาติ ชี้ไม่สู้ รถไฟล่มสลายแน่!
ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 “สาวิทย์ แก้วหวาน” ที่ปรึกษา สร.รฟท.กล่าวกับพนักงาน รฟท.ว่า ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง.. ได้เคยผ่าน ครม.เมื่อ ธ.ค.ปี 2559 แต่ตนไม่ยอมและคัดค้านอย่างต่อเนื่องถึงชั้นกฤษฎีกา ปี 2559-2564 ร่างกฎหมายไม่สามารถออกมาได้ แต่กลุ่มทุน นักธุรกิจที่ต้องการเข้ามาหาประโยชน์กับระบบราง ที่รัฐได้มีการลงทุนมหาศาลในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งเกิดช่องทางในการสร้างความร่ำรวยกับกลุ่มทุนได้อย่างมาก แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดกฎหมายรถไฟ 2 ฉบับ
คือ พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 ซึ่งกำหนดถึง ลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เหนือที่ดิน เหนือสันราง เหนือสถานี และ พ.ร.บ.การรถไฟฯ พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการองค์กร เมื่อเอกชนเข้ามาหาประโยชน์ไม่ได้ จำเป็นต้องล้มกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ซึ่งมติ ครม.ล้มไม่ได้ จำเป็นต้องทำกฎหมายใหม่ขึ้นมาให้เท่ากัน เพื่อล้มหรือเลิกกฎหมายเดิมที่มีอยู่ 2 ฉบับนี้ นั่นก็คือร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง...
เดือน ก.ค. 2564 ครม.อนุมัติ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง... โดยยังไม่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมพิจารณาเลย และเป็นการนำร่าง พ.ร.บ.เดิมที่ รฟท.เคยคัดค้านกลับมานำเสนอใหม่ มีการพิจารณาแบบรวบรัด ตัดตอน และตั้งเป้าจะเร่งเสนอสภาพิจารณา 3 วาระให้เร็วที่สุด เพื่อให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ เพราะรอไม่ได้แล้ว รถไฟทางคู่กำลังจะก่อสร้างเสร็จ เอกชนจะเข้ามาหาประโยชน์บนทางรถไฟ
หันมามองรถไฟ จากที่มีพนักงาน 2 หมื่นคน วันนี้เหลือพนักงาน 9,300 คน เพราะมีการจำกัดการเพิ่มพนักงานไว้ เมื่อรถไฟทางคู่เสร็จ คนทำงานไม่พอ ก็ต้องยกเส้นทางให้เอกชนไป ในที่สุดรถไฟจะเป็นเอกชนรายหนึ่ง
“ที่สหภาพฯ รฟท.คัดค้าน พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ก็เพราะ กฎหมายนี้ให้กรรมสิทธิ์ในรางและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง ได้แก่ สถานี ทางเข้าสถานี รวมถึงพื้นที่เชื่อมต่อกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างของเอกชน ฯลฯ จะถูกโอนไปที่กรมราง ...เส้นทางรถไฟจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาเช่าค่าใช้ทางรถไฟ อาจมี 3-4 บริษัท รถไฟทำอะไรไม่ได้ และจะเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ต้องแข่งกับ BTS BEM หรือเอกชนไหนก็ตามที่จะเข้ามา”
คำถามคือ รฟท.ในสภาพปัจจุบันจะแข่งได้หรือไม่ แค่ กรมรางฯ ประกาศห้ามรถไฟระบบส้วมเปิดห้ามวิ่ง เพราะเป็นมลภาวะ รฟท.ทำไง ... เป็นการทำลาย รฟท.ให้ตกอยู่ในสภาพล้มละลาย
แล้วรถไฟจะเหลืออะไร คนรถไฟจะอยู่กันอย่างไร ต้องลุกขึ้นมาสู้กันด้วยปัญหา เอาความจริง เปิดเผยให้สาธารณะเห็น เรื่องนี่คนรถไฟยอมไม่ได้ มรดกจากประวัติศาสตร์กำลังจะถูกทำลายจากกลุ่มทุน นักธุรกิจที่เข้ามาหาผลประโยชน์ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย โดยไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์
@สหภาพฯ รฟท.ค้านสุดซอย ชี้เร่งรวบรัด...ตัดตอน ฟังความเห็นไม่ครบถ้วน
วันที่ 9 มีนาคม 2565 สหภาพฯ รฟท.ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์การสมาชิก สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วย องค์กรสมาชิก ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และขอให้ยับยั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ.... เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 และส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหลายภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งในเรื่องของการตรากฎหมายและหลักการมีส่วนร่วมต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 77 เสียก่อน
ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสังคมและประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการหลักการมีส่วนร่วมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด
“กรมรางอ้างว่ารับฟังความเห็นแล้วผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถได้ครบถ้วน และก่อนนำเสนอ ไม่มีการเปิดเผยข้อสรุป ความคิดเห็นที่รับฟังมา ว่ามีผลกระทบอย่างไร แต่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียด แบบนี้ทำตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญครบถ้วนหรือไม่”
ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... มีเจตนามุ่งหมายเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐานด้านต่างๆ และการสร้างมาตรฐานให้เป็นสากลแก่ระบบขนส่งทางราง แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับมีบทบัญญัติที่มีความซ้ำซ้อน ขัดแย้งกับบรรดาสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กร โดยกำหนดว่า
“ให้บรรดาอำนาจ สิทธิและประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฉบับนี้การขนส่งทางราง พ.ศ. ....”
เท่ากับว่าร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางรางฯ ที่ออกมาซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่การรถไฟฯ ถือใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการจำกัดอำนาจ และสิทธิของการรถไฟฯ
สหภาพฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแล และพัฒนามาตรฐานด้านระบบการขนส่งทางราง เนื่องจากเป็นระบบการขนส่งที่มีความสำคัญในอนาคต ....แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ แล้ว กลับมีเนื้อหาที่มีความซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งกระบวนการในการตรากฎหมายไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด
จุดยืน สร.รฟท.ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. .... จนถึงที่สุด โดยขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณายับยั้งกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องระบบการขนส่งทางรางของรัฐให้มีความมั่นคง และยั่งยืน เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชนต่อไป
@ ซัดหมกเม็ดแปรรูป ยกสัมปทานให้เอกชน ทำค่าบริการแพงประชาชนเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน
“สราวุธ สราญวงศ์” ประธาน สหภาพ รฟท. ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาล สหภาพฯ จะเดินหน้าคัดค้านต่อไป การให้กรมรางมีหน้าที่เกินจากการกำกับดูแล เช่น มีอำนาจและสิทธิในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล และยังซ้ำซ้อนกับอำนาจของ รฟท.ที่มีตาม พ.ร.บ.การรถไฟฯ พ.ศ. 2494 , การให้กรมรางฯ สำรวจเส้นทางและนำเสนอโครงการ, ให้อำนาจกรมรางเวนคืนที่ดิน เป็นต้น
มีความพยายามในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เอกชนเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจในรูปแบบต่างๆ ทั้งการให้สัมปทาน การตั้งบริษัทลูกแล้วถ่ายโอนภารกิจทรัพย์สินจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เรียกว่า PPP ซึ่งที่สุดแล้วมันคือ "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ"
โดยอ้าง...เพื่อประสิทธิภาพและลดภาระงบประมาณของรัฐ แต่ผลประโยชน์จะตกที่กลุ่มทุนและนักธุรกิจทางการเมือง แต่ที่เลวร้ายที่สุดผลกระทบไปตกที่ผู้ใช้บริการ จ่ายราคาแพงขึ้น เช่น ราคาพลังงาน น้ำ ไฟฟ้า ประปา ยา สื่อสารโทรคมนาคม การขนส่งสาธารณะ ฯลฯ "ประชาชนเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน"
@นักกฎหมายชี้ ขัดแย้ง "พีพีพี"
มีข้อสังเกตจากทั้งศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด ล่าสุด ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีการชุดที่ 4 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กฤษฎีกายังพิจารณาไม่เรียบร้อยแต่กระทรวงคมนาคม เร่งรัดเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯ
โดยได้ตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิกถอนสัญญาสัมปทาน หรืออนุมัติการต่ออายุสัญญาสัมปทาน (ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว) เป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือพีพีพี 2. บริษัทที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางอื่นเกินกว่า 50% หรือการห้ามมิให้มีบริษัทที่สามถือหุ้นเกินกว่า 50% และ 3. หลักเกณฑ์และอำนาจที่มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เช่น รฟท. และ รฟม.
@กรมรางแย้งทุกประเด็น ยันไม่รวบอำนาจ แค่กำกับ ไม่ขัดพีพีพี
“พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ชี้แจงว่า ตามร่างมาตรา 9 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจในอนุมาตรา (3) เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ เป็นการเสนอแนะแนวทางในเชิงนโยบายให้หน่วยงานที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางปฏิบัติตาม
ยืนยัน การให้อำนาจกรมรางไม่ทับซ้อนกับหน่วยงานปฏิบัติ โดยหากเป็นโครงการที่มอบหมายให้หน่วยงานรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งหรือกฎหมายเฉพาะของหน่วยนั้นๆ ให้อำนาจหน้าที่ในการเวนคืนหรือจัดหาที่ดินให้ได้มาเพื่อดำเนินการจัดทำโครงการได้อยู่แล้ว
ส่วนกรณีให้กรมรางเสนอ ครม.และพิจารณาเห็นชอบให้เอกชนดำเนินการ ซึ่งเอกชนไม่สามารถใช้อำนาจรัฐในการเวนคืนหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในการดำเนินโครงการ กรมรางควรจะมีหน้าที่และอำนาจในการเวนคืนหรือให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้การดำเนินโครงการของเอกชนที่เข้ามาดำเนินโครงการได้
ประเด็นให้อำนาจ รมต.คมนาคม เพิ่มถอน/อนุมัติ/ต่อสัญญาสัมปทาน เฉพาะใบอนุญาตที่ รมต.คมนาคมเป็นผู้ออก และเป็นกรณีที่จะก่อให้เกิดอันตราย หรือกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ครอบคลุมสัมปทานที่มีก่อน พ.ร.บ.ขนส่งทางรางบังคับใช้
สหภาพฯ รฟท.ทิ้งท้ายว่า การเร่งออกกฎหมายนี้ เจตนาสำคัญเพราะรถไฟทางคู่ใกล้เสร็จ กรมรางต้องมีอำนาจในการให้เอกชนเข้ามาสัมปทานเดินรถ...แต่!!!ต้องไม่ลืมว่ารถไฟเป็นสาธารณูปโภค สวัสดิการเพื่อประชาชน เป็นบริการที่ไม่มีกำไร และหากยกที่ดินไปอยู่ในมือกรมรางอีก ยิ่งหมดความหวังที่จะให้รฟท.พัฒนาที่ดินหารายได้มาชดเชยการขาดทุนจากการเดินรถ รถไฟไม่มีสภาพคล่องสุดท้ายก็จะถูกยุบไป เหมือน ร.ส.พ. ซึ่งผลกระทบต่อพนักงานก็ส่วนหนึ่ง แต่ประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐมาลงทุนก่อสร้างทาง แต่รัฐเอาทางไปให้เอกชน แล้วประชาชนจ่ายค่าบริการแพง..แบบนี้ถูกต้องหรือไม่!!!