วันนี้ (29 มี.ค.) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และยกระดับมาตรการตามความเข้มข้นของค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และมาตรการเชิงรุกเพื่อควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะรถยนต์ควันดำ โดยบูรณาการความร่วมมือกับ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ ในการกวดขัน ตรวจจับ และบังคับใช้กฎหมายกับรถทุกประเภทที่ปล่อยควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากยานพาหนะตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทั้งการเพิ่มจุดตรวจวัดควันดำขาเข้า- ขาออกตามถนนสายหลักต่าง ๆ เพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบและระงับการใช้รถที่มีควันดำจนกว่าจะนำรถไปปรับปรุงแก้ไข รวมถึงรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลดำเนินการตรวจวัดค่าไอเสียต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานใหม่ของกรมควบคุมมลพิษก่อนนำออกมาวิ่งให้บริการประชาชน ปรับปรุงเครื่องยนต์ของรถให้มีประสิทธิภาพมีค่าไอเสียที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และประชาสัมพันธ์ผู้ขับขี่ให้ทราบเกณฑ์มาตรฐานควันดำใหม่ที่บังคับใช้ในวันที่ 13 เมษายน 2565 นี้ เพื่อให้ประชาชนดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว กรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ รวมถึงตรวจสอบค่ามลพิษจากปลายท่อไอเสียรถทุกคันอย่างเข้มข้นให้มีค่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดจนการพิจารณาแนวทางลดการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยเลือกใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และมลพิษทางอากาศในระยะยาว ซึ่งจากรายงานของสำนักการคลัง โดยกองโรงงานช่างกลที่ได้จัดหน่วยบริการตรวจสภาพรถยนต์เคลื่อนที่เพื่อลดมลพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง พบว่าตั้งแต่ 19 ต.ค.64 - 25 ก.พ.65 ได้ออกหน่วยบริการไปยังหน่วยงานและสำนักงานเขตต่าง ๆ จำนวน 29 หน่วยงาน ให้บริการตรวจรถยนต์แล้วทั้งสิ้น 1,273 คัน ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 73 คัน สามารถแก้ไขในระหว่างการตรวจวัด จำนวน 60 คัน ส่วนอีก 13 คัน ไม่สามารถแก้ไขระหว่างการตรวจวัดได้ จึงแนะนำให้หน่วยงานเจ้าของรถส่งรถเข้ากองโรงงานช่างกลตรวจซ่อมแก้ไข ซึ่งกองโรงงานช่างกลจะได้ใช้เกณฑ์ใหม่ในการตรวจสภาพรถราชการของกรุงเทพมหานครต่อไป รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศกิจกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดชุดสายตรวจสำนักเทศกิจประสานกับฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการตั้งจุดตรวจ กวดขันรถบรรทุกดิน หรือวัสดุอื่นใดที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง และรถบรรทุกที่เข้า - ออก บริเวณสถานที่ก่อสร้างให้มีการป้องกันมิให้วัสดุที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้ง กระจาย และล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง โดยระหว่างเดือน ม.ค. - ธ.ค.64 ได้ทำการจับ - ปรับ ผู้ฝ่าฝืนก่อให้เกิดฝุ่นละออง หรือไม่ร่วมกันป้องกันการเกิดฝุ่นละออง จำนวนทั้งสิ้น 772 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 1,743,500 บาท
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขต ได้สนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ด้านการจราจรเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและการสะสมตัวของฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะบริเวณริมถนนและสี่แยกที่มีสภาพการจราจรคับคั่ง โดยประสานตำรวจท้องที่ในการอำนวยความสะดวกการจราจรหรือจัดการจราจรให้คล่องตัว การห้ามจอดรถริมถนนสายหลักและสายรอง ขอความร่วมมือประชาชน “ไม่ขับ...ช่วยดับเครื่อง” และใช้รถเท่าที่จำเป็น ตลอดจนการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์/เครื่องยนต์ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานกำหนด เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM2.5 การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในทุกมิติ และมาตรการที่กรุงเทพมหานครดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศ กำชับให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดูแลพื้นที่และปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระยะก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและเร่งคืนผิวจราจร กวดขัน ตรวจตราและควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งทุกประเภท โดยขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่ง พร้อมประสานจังหวัดปริมณฑลเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผา และเพิ่มความถี่ในการฉีดล้างใบไม้ ฉีดล้างและดูดฝุ่นถนน ตลอดจนการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในระยะยาว อาทิ กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ตามยูโร 5/6 เร่งพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง ผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตน้ำมันดีเซลลดสารกำมะถันให้เหลือไม่เกิน 10 ppm เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีช่องทางการแจ้งเตือนการคาดการณ์และสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมรายงานข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ประกอบด้วย เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com www.prbangkok.com เฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ แอปพลิเคชัน : AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอป้ายจราจรอัจฉริยะ หากพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่องจะมีการเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนค่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวันละ 3 รอบเวลา คือ 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง พร้อมแนะนำข้อควรปฏิบัติหากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งอีกด้วย