รมว.คมนาคม หารือผู้ประกอบการขนส่งมวลชนกทม.ปริมณฑล ช่วยผู้มีรายได้น้อย ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มคุณภาพชีวิต หนุนรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ลดปัญหาPM 2.5 เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รองรับการเดินทางของคนทั้งมวล
วันนี้(31มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของผู้ประกอบการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้เกี่ยวข้องร่วมหารือ โดยในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสาร 123 เส้นทาง และผู้ประกอบการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เส้นทาง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รองรับผู้โดยสารมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน อาทิ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด, บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด, บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด, บริษัท สันติมิตรขนส่ง จำกัด, บริษัท บี.บี.ริช (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เศวกฉัตร จำกัด, บริษัท ต.มานิตย์ จำกัด, บริษัท อำไพรุ่งโรจน์ จำกัด, บริษัท ชัยกรการเดินรถ จำกัด และบริษัท เจริญบัส จำกัด
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง ทั้งความต้องการการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐ, รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมให้เป็นเครือข่ายเดียวกันโดยสมบูรณ์ ผลักดันนโยบายในการใช้รถเมล์ปรับอากาศไฟฟ้า แทนการใช้รถดีเซล เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม นั้น ค่อนข้างสอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 เห็นชอบการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 เรื่อง นโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาท Regulator และ Operator ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบ Smart Bus และให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง รับทราบมติของคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไป กรมการขนส่งทางบกจึงได้ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไปในการขออนุญาตประกอบการขนส่งเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 77 เส้นทาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในการเดินทางด้วยรถที่ใช้พลังงานสะอาด ลดฝุ่นละออง PM 2.5 รองรับ Wheel Chair สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งการพัฒนารูปแบบบริการโดยใช้นวัตกรรม เช่น E-Ticket System, AI มีแผนดำเนินการที่ชัดเจนในการรองรับการใช้ระบบตั๋วต่อ ตั๋วร่วม ของกระทรวงคมนาคมบัตรโดยสารใบเดียวสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ทุกโหมด ภายใต้แนวคิด Single Network / Single Price / Single Management สามารถเชื่อมต่อผู้ประกอบการรายอื่น / การขนส่งรูปแบบอื่นได้ โดยให้คำนึงถึงผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการขนส่งจะขอรับการสนับสนุนในเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการแรงงานขับรถที่มีทักษะสูง ต้องคำนึงถึงการยกระดับคนขับรถที่มีคุณภาพและมีจิตสำนึกที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการปฏิบัติหน้าที่ขับรถให้บริการประชาชนซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ควบคู่กัน เพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะในทุกมิติ ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนในการเดินทาง ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของผู้ประกอบการขนส่งไปพิจารณาความเหมาะสมต่อไป