กรมการค้าภายในถก 3 สมาคมปุ๋ยเตรียมความพร้อมรองรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ พ.ค.นี้ ยันปุ๋ยมีเพียงพอ ไม่ขาดแคลน หลังผู้ประกอบการเร่งนำเข้า และหาแหล่งนำเข้าทดแทน ส่วนการปรับขึ้นราคา จะพิจารณาให้ตามต้นทุนที่แท้จริง ป้องกันปัญหาขาดตลาด เผยมีเงื่อนไขสำคัญ เกษตรกรต้องไม่รับภาระเกินไป ผู้ประกอบการทำธุรกิจต่อไปได้ พร้อมขอสมาคมเข้มงวดสมาชิก อย่าให้เกิดการกักตุน ฉวยโอกาส
นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ 3 สมาคมผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและนำเข้าปุ๋ยเคมี ประกอบด้วย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เพื่อหารือสถานการณ์ปุ๋ยเคมี ว่า สมาคมฯ ได้ยืนยันว่าปุ๋ยมีเพียงพอสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มในเดือน พ.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ โดยได้มีการเตรียมการนำเข้ามาเป็นระยะๆ และมีการสั่งซื้อล่วงหน้า ทั้งปุ๋ยยูเรีย โพแทสเซียม และฟอสเฟต ทำให้มั่นใจว่าช่วงครึ่งปีแรกจะไม่มีปัญหาปุ๋ยขาดแคลน และช่วงไตรมาส 3 และ 4 ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมนำเข้าและหาแหล่งนำเข้าไว้ล่วงหน้าแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ยืนยันจะเร่งนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าแล้วบางส่วน และขณะนี้ก็มีการวางแผนสั่งซื้อต่อเนื่อง แต่อาจจะสะดุดบ้าง เพราะแหล่งนำเข้าสำคัญหลายแห่งมีปัญหาจากผลกระทบของสงคราม และบางประเทศได้สำรองไว้ใช้ในประเทศ ทำให้ปริมาณในตลาดลดลง ซึ่งผู้ประกอบการได้แก้ปัญหาด้วยการมองหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ ทดแทน เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของโลก
นายวัฒนศักย์กล่าวว่า สำหรับการปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น กรมฯ ได้ขอให้ผู้ประกอบการส่งต้นทุนมาให้กรมฯ แล้ว โดยจะพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง มีหลักเกณฑ์ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุน ไม่ใช่ให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด เพราะผู้ประกอบการแต่ละราย ปุ๋ยแต่ละชนิด มีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญ การปรับขึ้นราคาจะต้องไม่เป็นภาระต่อเกษตรกรมากจนเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ และประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องสมเหตุสมผล เพราะหากไม่ให้ปรับขึ้นราคา ก็จะมีปัญหาเรื่องสินค้าขาดแคลน จะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาอีก
ส่วนต้นทุนปุ๋ยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการแจ้งว่า ปุ๋ยสูตรหลักๆ มีการปรับสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยยูเรีย ราคา FOB อยู่ที่ 960-1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ฟอสเฟต อยู่ที่ 1,100-1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน และโพแทสเซียมอยู่ที่ 950-1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาสูงขึ้นจากเดิม 100-200% แต่ในการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา จะให้ขึ้นตามต้นทุนเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีสต๊อกเก่าอยู่ แต่จะพิจารณาให้ตามเหมาะสม และตามต้นทุนที่แท้จริง
“โจทย์ตอนนี้ ต้องดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ เพราะแต่ละปีมีความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศประมาณ 5 ล้านตัน เป็นปุ๋ยยูเรียเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเป็นปุ๋ยชนิดอื่นๆ โดยเรื่องปริมาณเบาใจได้แล้ว เพราะได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการว่าจะเร่งนำเข้า และหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ ทดแทน แต่เรื่องราคา เป็นเรื่องที่กรมฯ ต้องดูแล ที่จะต้องสมเหตุ สมผล เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ” นายวัฒนศักย์กล่าว
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ขอความร่วมมือให้สมาคมฯ ช่วยดูแลสมาชิก หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดมีการกักตุน ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา ขอให้ตัดสิทธิ์ไม่ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอีก และในส่วนของกรมฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุดทุกราย และยังได้ขอความร่วมมือให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศทำการติดตาม ตรวจสอบปริมาณและการจำหน่ายปุ๋ยอย่างใกล้ชิดด้วย