โฆษกรัฐบาลยืนยัน นายกฯ ห่วงใยสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน กำชับทุกหน่วยงานเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และไม่ให้กระทบความมั่นคงด้านอาหารของไทย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน กำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาบรรเทาภาระของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ สำรวจปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในสต๊อก และการจัดหาปุ๋ยเพิ่มเติมให้เพียงพอแล้ว แต่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ประกอบกับราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น จากหลายปัญหาในเวลาเดียวกันทั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศโดยเฉพาะความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ไทยยังไม่สามารถผลิตปุ๋ยเคมีที่เป็นอาหารพืช และปุ๋ยยูเรียได้เอง เพราะไม่มีวัตถุดิบ ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ไม่ใช่ราคาปุ๋ยสูงเฉพาะในประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินโครงการปุ๋ยสั่งตัด ที่เหมาะกับสภาพดินและความต้องการของพืช อีกทั้งเร่งการผลิต ปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์เสริมให้ประชาชนใช้ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน อีกทั้งได้มีมาตรการหลาย ๆ อย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านพลังงาน และมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนไปบ้างแล้ว ในส่วนของมาตรการปุ๋ยแพงนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อหาหนทางนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด พร้อมกับออกแนวคิดช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ เช่น ใช้มาตรการทางการเงิน ช่วยปล่อยเงินกู้พิเศษ เงินกู้ระยะยาว ดูแลเรื่องดอกเบี้ย เป็นต้น
“รัฐบาลตั้งใจผลักดันทุกนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาอย่างเต็มที่ เพราะเข้าใจดีว่าชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ พยายามเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทุกเรื่อง รวมถึงการออกมาตรการต่างๆ ที่จับต้องได้จริง ดูแลชาวนาทั้งในส่วนของต้นทุนการผลิตและราคา ป้องกันไม่ให้กระทบกับความมั่นคงทางอาหารของไทยทั้งนี้ ทุกคนต้องร่วมกันพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับภาคการเกษตรสู่อุตสาหกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ และทันต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ต้องมีการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง พัฒนาทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร พัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะการทำเกษตรแปลงใหญ่ ทำการตลาดนำการผลิต นำการวิจัยมาเสริมคุณภาพสินค้า และการทำเกษตรชีวภาพ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ซึ่งนำพืชที่เหลือใช้วนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน” นายธนกร กล่าว