xs
xsm
sm
md
lg

ttb analytics คาดรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชหลักเติบโต 16.1% ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมีและน้ำมันฉุดรั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) ระบุเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยภาพรวมแม้จะมีการชะลอตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาภาคเกษตรจะพบว่าเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2564 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และข้าว รวมกันอยู่ที่ 7.63 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 19.2% จากปี 2563 และเมื่อแยกเป็นพืชแต่ละประเภท พบว่าเพิ่มขึ้น 52.6% 26.4% 23.4% 20.3% และ 3.4% ตามลำดับ โดยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ทำให้นํ้าในอ่างเก็บนํ้าที่สำคัญ และแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีปริมาณมากขึ้นเพียงพอ เป็นสาเหตุจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.86 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนถึง 16.1% และสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับอานิสงส์จาก 1) ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสาเหตุจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร 2) ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช 3) แนวโน้มราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 และ 4) ความตึงเครียดของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพืชอาหารและพืชที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อมูลค่ารายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย ในปี 2565 เป็นดังนี้

- ข้าวเปลือก : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.93 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.6% โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 4.1% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 8.2% (ปี 2564 ราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลง 5.2% จากอุปทานเพิ่มขึ้น)

- ยางพารา : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.89 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.3% โดยปริมาณผลผลิตคาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน สำหรับราคายางพาราคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 12.0% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น

- ปาล์มน้ำมัน : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.28 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 13.6% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และ 9.7% ตามลำดับ

- อ้อย : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.97 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 47.9% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 28.1% และ 15.5% ตามลำดับ

- มันสำปะหลัง : คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.79 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17.1% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% และ 16.4% ตามลำดับ

**ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมี-น้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งกว่าเท่าตัว**
อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยเคมีถือเป็นต้นทุนสำคัญในการเพาะปลูกพืช จากข้อมูลปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า พืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากคือ ปาล์มน้ำมันใช้ปุ๋ยเคมี 120 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาเป็น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก ใช้ปุ๋ยเคมี 76 63 41 และ 30-49 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ

ttb analytics คาดว่าในปี 2565 ราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกท้องถิ่น (สูตร 46-0-0) จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 บาทต่อตันจากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,541 บาทต่อตัน สาเหตุเนื่องจาก 1) ความต้องการปุ๋ยเคมีโลกที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่างๆ มุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อภาคการเกษตร 2) อุปทานการผลิตปุ๋ยเคมีหยุดชะงักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3) ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น 4) จีนและรัสเซียผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลกลดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมี

ราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลทำให้ต้นทุนปุ๋ยเคมีของเกษตรกรในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 92% จากปี 2564 และหากคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะพบว่า พืชที่ต้นทุนปุ๋ยเคมีเพิ่มมากที่สุด คือ ปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1,495 บาทต่อไร่ (จาก 1,625 บาทต่อไร่ในปี 2564 เป็น 3,120 บาทต่อไร่ในปี 2565) รองลงมา ได้แก่ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก โดยต้นทุนปุ๋ยเคมีในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 เท่ากับ 947 785 511 และ 492 บาทต่อไร่ตามลำดับ นอกจากนี้ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ทางการเกษตร เช่น การขนส่งสินค้าเกษตร การสูบน้ำ นับเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรให้ลดลงได้

**แนะเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต-ภาครัฐช่วยเหลือด้านต้นทุน**
แม้รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 จะดีขึ้นจากทิศทางราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าแรงมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งต้นทุนที่ปรับเพิ่มย่อมส่งผลทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรลดลง จึงเสนอแนะแนวทางการลดต้นทุน ดังนี้

- แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ได้แก่ 1) ปรับสัดส่วนเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น 2) จัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูกโดยละเอียด เช่น ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน เพื่อให้ทราบต้นทุนการเพาะปลูกทั้งหมดและนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการเพาะปลูกแยกตามลำดับความสำคัญ ตามความสามารถที่เกษตรกรจะสามารถปรับลดเองได้

- แนวทางการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตของภาครัฐ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 2) ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ 3) ในกรณีที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม

โดยการลดต้นทุนของเกษตรกรด้วยตัวเองและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนให้ภาคเกษตรไทยมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ นับเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือเศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น