“สินิตย์”สั่ง GIT เร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องเงินภาคเหนือ เตรียมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญติวเข้มสร้างอัตลักษณ์ให้สินค้า ช่วยหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ และช่วยเชื่อมโยงแหล่งผลิตให้เป็นที่ท่องเที่ยว พร้อมตั้งเป้าดันเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับเงินที่สำคัญของโลก เผยจะคัดเลือกผู้ประกอบการที่โดดเด่น 10 ราย ทำคอลเลกชันและนำโชว์ในงานบางกอกเจมส์ด้วย
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องเงินภาคเหนือ เพื่อช่วยพัฒนาสินค้า โดยใช้วัสดุภายในท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้เน้นการออกแบบที่แสดงถึงภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ที่จะช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับเครื่องประดับ และให้ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีเป้าหมายผลักดันให้เชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับเงินที่สำคัญของโลก
โดยนอกเหนือจากการช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ ขอให้ช่วยทำการเชื่อมโยงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเข้ากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่นผ่านชิ้นงานเครื่องประดับ ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับรายงานจาก GIT ว่า มีกำหนดลงพื้นที่จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ช่างฝีมือ นักออกแบบ และผู้ประกอบการ ในการพัฒนาเครื่องประดับเงินภาคเหนือ (D-CAMP) ภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสินค้าชุมชน (มาเหนือ) ระหว่างวันที่ 28–30 มี.ค.2565 ณ โรงแรมดุสิต ดีทู จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการจัดการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ด้านการตลาด จำนวนมาก เช่น คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย อาจารย์ธีระ ฉันทสวัสดิ์ Professional Design Director ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาส รองคณบดีคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ศิลปิน นักออกแบบ นักวิจัย และที่ปรึกษาอิสระด้านการออกแบบเครื่องประดับและศิลปะ รวมทั้งอาจารย์ศักดิ์รพี จูธนทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณี ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และอัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจในยุค Never Normal ให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม
นอกจากนี้ หลังจากอบรมแล้ว จะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการ จำนวน 10 ราย เพื่อต่อยอดจัดทำคอลเลกชันเครื่องประดับต้นแบบ และจะนำไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับต่อไป โดยผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมได้ตั้งแต่วันนี้–26 มี.ค.2565 โทร 02 634 4999 ต่อ 301-305 และ 311-313 หรือ www.git.or.th
ปัจจุบันอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน ทั้งจากภาคการส่งออกและการค้าภายในประเทศเกือบ 9 แสนล้านบาท หรือประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นอันดับ 1 ของโลก