xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.FETCO แนะวางแผนดันตลาดทุนโตรูปแบบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในการเสวนา "แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. กับทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 65" โดยระบุว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมช่วงแรกของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากนั้นฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับตลาดทุนอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนไทยค่อนข้างแข็งแรง ซึ่งในปี 64 มีผลกำไรรวมกันกว่า 9 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 62 ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ในส่วนของตลาดแรกพบว่า การระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ถือว่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนในด้านมูลค่าของการระดมทุน และการระดมทุนขนาดใหญ่สามารถทำได้โดยไม่ติดปัญหาใดๆ และในด้านตลาดรอง มูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 90,000-100,000 ล้านบาท/วัน ถือว่าสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 4-5 ปี ในขณะเดียวกัน ยังได้มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาให้นักลงทุนได้เลือกเข้าลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดทุนไทยจำเป็นต้องการวางแผนการเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มเติม ด้วยการเติบโตไปกับภูมิภาค และผลักดันให้ขนาดของตลาดทุนไทยสูงไปสู่ระดับ 200-300% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) จากปัจจุบันอยู่ที่ 120% ของ GDP ด้วยการใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินทุนให้ภาคธุรกิจอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน ต้องสามารถตอบโจทย์ของประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อสร้าง New S-curve ของประเทศ

ด้านนายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) อย่างสมบูรณ์แล้ว โดยจะเห็นได้จากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหลักอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) หรือ BTC ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับ 40,000 เหรียญสหรัฐ และปริมาณการซื้อขายปรับตัวลดลง

นายศุภกฤษ์ เสนอแนะว่า หน่วยงานภาครัฐควรมีเป้าหมายและแผนงานชัดเจนต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล และมีการบูรณาการให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้วัตถุประส้งค์ที่ชัดเจน หากต้องการจะนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมองว่าการออกกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ มาควบคุมนั้นควรจะเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกดิจิทัล

"เวลาเราคิดว่าจะนำเรื่องอำนาจหรือการควบคุมกำกับดูแลมาที่ตัวเอง ไม่ได้มาแค่อำนาจ แต่มาพร้อมหน้าที่ และงานทั้งหมดมากองอยู่ที่ตัวเอง ปัญหาที่เจอคือผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มดิจิทัล เวลาและตลาดสำคัญมากๆ ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ออกมาค่อนข้างที่จะขัดกับแนวทางดำเนินธุรกิจที่แค่จะสู้กับคู่แข่งก็ยากแล้ว จะต้องมามีข้อกำหนดหรือข้อจำกัดอะไรบางอย่างจากผู้ที่ไม่ได้มีส่วนจะรับผิดชอบต้นทุน หรือกำไรของบริษัท อันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาคิดหรือเปล่าว่าแนวทางไหนจะสามารถทำให้เกิด Balance ของการกำกับดูแล" นายศุภกฤษฎ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น