รฟท.เสนอบอร์ด 31 มี.ค.แก้สัญญา "ไฮสปีด" ซี.พี.รับผ่อนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 7 งวด ตอกเข็มทับซ้อน แต่ยังติงส่งมอบพื้นที่ ชี้ รฟท.ต้องถือครองกรรมสิทธิ์ทุกแปลงก่อนออก NTP ด้าน รฟท.มั่นใจเคลียร์ทัน พ.ค. ปัดตกแก้เหตุสุดวิสัยเพิ่มกรณี “อู่ตะเภา” ไม่เกิด
รายงานข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยต่อ "ผู้จัดการรายวัน 360 องศา" ว่า จากที่คณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ รฟท. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ได้มีการเจรจาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่ำกว่าคาดหมาย และการก่อสร้างช่วงทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 คณะกรรมการ 3 ฝ่ายได้สรุปหลักการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่ง รฟท.ได้ทำหนังสือถึง บริษัท เอเชีย เอรา วันฯ เพื่อให้ยืนยันข้อสรุปเป็นทางการ โดยเอกชนได้มีหนังสือตอบกลับมาถึง รฟท.แล้วเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ซึ่งมี 4 ประเด็น โดยเอกชนตอบยอมรับ 2 ประเด็น คือ 1. กรณีการยืดชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท เป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิด-19 ยุติก่อนระยะเวลา 7 ปี โดยยึดประกาศจากรัฐบาล จะประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้นแล้วพิจารณาการชำระเงินที่เหลือในคราวเดียว
2. เอกชนยอมรับในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมฯ ช่วงเส้นทางทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟไทย-จีน โดยเอกชนรับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มจำนวน 9,207 ล้านบาท โดยรฟท.ปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21
สำหรับประเด็นที่เอกชนยังไม่ยอมรับคือการส่งมอบพื้นที่ โดย รฟท.กำหนดไทม์ไลน์ที่ออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือนพ.ค. 2565 ซึ่งทางเอกชนยืนยันว่าการส่งมอบพื้นที่จะต้องทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ระบุว่า รฟท.จะต้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทุกแปลง 100% ก่อนที่จะส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เพื่อให้สามารถเริ่มก่อสร้างงานโยธา รวมถึงพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น มักกะสัน แต่ขณะนี้บริษัทฯ เห็นว่าพื้นที่บางส่วนยังมีปัญหาอยู่
ขณะที่ รฟท.ประเมินว่าจะเคลียร์พื้นที่ต่างๆ ได้เรียบร้อยสมบูรณ์ภายในเดือน เม.ย. 2565 และพร้อมสำหรับการส่งมอบได้ภายในเดือน พ.ค. 2565 จึงวางแผนที่จะออก NTP ประมาณต้นเดือน พ.ค. 2565 ซึ่ง รฟท.จะเจรจากับเอกชนเพื่อทำความเข้าใจ เนื่องจากการเวนคืนหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เหลือนั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งได้ออกพ.ร.บ.เวนคืน มีกระบวนการเพื่อครอบครองที่ดิน ถือว่าชัดเจนแล้วสามารถส่งมอบพื้นที่แก่บริษัทได้ตามกำหนดแน่นอน
นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมในประเด็น ที่ต้องการได้รับการเยียวยากรณีที่มีผลกระทบในอนาคต เช่น กรณีสนามบินอู่ตะเภาไม่เกิดขึ้นตามแผน ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่บริษัทฯ จะได้รับโดยตรงจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไข เหตุสุดวิสัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง รฟท.ยืนยันว่าไม่สามารถรับเจรจาในเรื่องนี้ได้ เพราะถือเป็นคนละประเด็น โดยในการเจรจาครั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นและมีเหตุผลอันควรเท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า รฟท.จะสรุปผลการเจรจาในคณะกรรมการ 3 ฝ่าย รายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.รับทราบในการประชุมวันที่ 31 มี.ค. 2565 หลังจากนั้นจะเสนอไปที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อพิจารณา ซึ่งขึ้นกับ กพอ.ว่าจะเห็นชอบตามผลของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย หรือจะมีความเห็นเพิ่มเติม รฟท.จะปฏิบัติตาม จากนั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากที่ รฟท.ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2564-24 เมษายน 2565 โดยรฟท.ตั้งเป้าสรุปการเจรจาให้ได้ในเดือน มี.ค.นี้ และเห็นว่าแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้ข้อยุติดังกล่าว สามารถอธิบายเหตุผลทางการเงินได้ ขณะที่รัฐไม่เสียหาย ไม่เสียประโยชน์ และสามารถบริหารโครงการร่วมกับเอกชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไปได้ ส่วนจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาอย่างไรต้องขึ้นกับการพิจารณาของ กพอ.ด้วยว่าจะมีความเห็นอย่างไร