xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 5 จังหวัดกว่า 667 ไร่ เร่งสร้างไฮสปีดไทย-จีน “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 5 จังหวัด รวมเนื้อที่ประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง เดินหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตั้งแต่กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนให้ถูกต้องชัดเจน โดยร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ 4 ปี และให้เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเริ่มทำการสำรวจได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีผลใช้บังคับ

สำหรับร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของท้องที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลาลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแซง อำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอเนินสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อที่ประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง

1.จังหวัดกรุงเทพฯ พื้นที่บางส่วนในเขตจตุจักร, หลักสี่ และดอนเมือง 2. จังหวัดปทุมธานี พื้นที่บางส่วนใน อ.ลำลูกกา อ.ธัญบุรี อ.คลองหลวง อ.เมืองปทุมธานี และ อ.สามโคก 3. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่บางส่วนใน อ.บางปะอิน อ.พระนครศรีอยุธยา อ.อุทัย อ.ภาชี 4. จังหวัดสระบุรี อ.หนองแซง อ.เสาไห้ อ.เมืองสระบุรี อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก 5. จังหวัดนครราชสีมา อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.เนินสูง อ.เมืองนครราชสีมา

เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ขนาดทาง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร สถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ จำนวน 4 สถานี และศูนย์ควบคุมการเดินรถและซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 1 แห่ง รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอด และทางคนลอดใต้ทางรถไฟแทน

โดยโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประเมินมูลค่าโครงการแล้วเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 179,412 ล้านบาท ประกอบด้วยค่ารื้อย้ายและเวนคืน สัญญางานโยธา โดยเมื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ อันเป็นการเสริมศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดแผนการดำเนินโครงการคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569


กำลังโหลดความคิดเห็น