xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางเคลียร์ชื่อ 2 สถานีรถไฟฟ้า "ชมพูและส้ม" ยึดตามที่ตั้ง ป้องกันสับสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางเคลียร์ชื่อสถานีรถไฟฟ้าสีชมพู คงชื่อสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 และสายสีส้ม ชื่อ “สถานีรามคำแหง 34” ชี้บอกถึงตำแหน่งที่ตั้งสถานีได้ชัดเจน ไม่สับสน

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 65 ซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณาทบทวนการกำหนดชื่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กรณี สวทช.เสนอเรื่องเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณา ชื่อ สถานี PK 08 แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 เป็นสถานีซอฟต์แวร์ปาร์ก โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 เนื่องจากมีความเหมาะสมด้านความยั่งยืน สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ไม่สร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ และเชื่อมโยงในการวางแผนการเดินทางได้

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ ได้พิจารณาการกำหนดชื่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สถานี OR 19 รามคำแหง 34 กรณีข้อร้องเรียนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรามคำแหง 40 ได้คัดค้านการใช้ชื่อ “สถานีรามคำแหง 34” และเสนอให้ใช้ชื่อ “สถานีหัวหมากเหนือ” โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้สถานีรามคำแหง 40 เนื่องจากสามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจนสอดคล้องกับที่ตั้งสถานี ไม่สร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ มีความยั่งยืน และเชื่อมโยงในการวางแผนการเดินทางได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ รฟม. ประสานชี้แจงประชาชนเพื่อทำความเข้าใจในการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่อไป

และเห็นชอบแบบเบื้องต้นตามที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบพื้นผิวต่างสัมผัสภายในสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานรหัสสีเส้นทางระบบขนส่งทางราง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รฟท. รฟม. รฟฟท. กทม. BTSC BEM EBM NBM และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ใช้เป็นรหัสสีมาตรฐานในการดำเนินการจัดทำป้ายสัญลักษณ์ แผนที่เส้นทาง ข้อมูลการบริการต่อไป

พร้อมกับรับทราบความคืบหน้าของผลการดำเนินงานของกิจกรรมการประเมินคุณภาพสถานีขนส่งทางรางทั่วประเทศ “สถานีดีพร้อม” โดยเบื้องต้นได้มีสถานีที่ส่งรายชื่อเข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 30 สถานี ประกอบด้วยกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 12 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 18 สถานี ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดการสมัคร และการประชาสัมพันธ์ ผ่านเว็บไซต์ และ QR Code ต่อไป

รวมไปถึงมีการพิจารณาติดตั้งป้ายแนะนำอาคารจอดแล้วจร สถานีศรีเอี่ยม โดยเห็นชอบแนวทางการติดตั้งป้ายฯ ตามที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอ โดยมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และ ขร.ดำเนินการติดตามและตรวจสอบการติดตั้งป้ายฯ ให้เหมาะสมไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้สัญจรเดินเท้าและสังเกตเห็นได้โดยง่ายต่อผู้ขับขี่

และพิจารณาแนวทางการปรับรูปแบบสัญลักษณ์รถไฟบนป้ายแนะนำสถานีหรืออาคารจอดแล้วจร โดยใช้รูปแบบสัญลักษณ์รถไฟรางเดี่ยว (Monorail) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการอื่นๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาหารือแนวทางการป้องกันเหตุรถขัดข้องร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสนอแนะแนวทางการเยียวยาผู้โดยสารและแผนเผชิญเหตุ โดยจะได้มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป

และมีการพิจารณาการประเมินตัวชี้วัดผลการดำเนินงานจ้างบริหารระบบเดินรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ซึ่งจะมีการประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการทบทวน ประมวลตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอที่ประชุมในรายละเอียดต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น