xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางลุย M-MAP 2 ปรับแผนแม่บทรถไฟฟ้า อัปเดตข้อมูล 14 สายเติมโครงข่ายเชื่อมรอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางลุย M-MAP ระยะที่ 2 ปรับปรุงแผนแม่บท รถไฟฟ้า 14 สาย ระยะทางกว่า 553 กม. อัปเดตข้อมูล เติมเต็มเส้นทางเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย รองรับการเดินทางในอนาคต เพิ่มฟีดเดอร์เพิ่มการเข้าถึง ศึกษา 18 เดือน เสร็จ ม.ค. 66

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หรือ M-MAP เปิดให้บริการแล้วกว่า 211.94 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 112.20 กิโลเมตรจากโครงข่ายทั้งหมด 553.41 กิโลเมตร จำนวน 14 เส้นทาง ซึ่งแผนแม่บทรถไฟฟ้า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 จึงมีความจําเป็นที่จะต้องปรับปรุงแผนแม่บทรถไฟฟ้าให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารในอนาคต กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางรางดําเนินการศึกษา “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2)” เพื่อเป็นการต่อยอดแผนแม่บทรถไฟฟ้าเดิมให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต

สําหรับโครงการดังกล่าวมีกระบวนการศึกษาใช้ระยะเวลา 18 เดือน (15 ก.ค. 2564-14 ม.ค. 2566) โดยมีขอบเขตการดําเนินงานแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. การรวบรวม ศึกษาและทบทวนข้อมูล ปริมาณผู้โดยสาร รูปแบบโครงการ แนวเส้นทาง ตําแหน่งสถานีรถไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน รวมทั้งสถานะของโครงการรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. การวางแผนเพื่อพัฒนาแผนแม่บทโครงข่าย M-MAP2

3. การดําเนินการสนับสนุนทางวิชาการแก่กรมการขนส่งทางราง 4. การพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) 5. การประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

โดยหัวใจสําคัญของโครงการนี้ คือแนวคิดการพัฒนา “แบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง” (Railway Demand Forecast Model) เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายในแต่ละเส้นทางสอดคล้องกับรูปแบบการขยายตัวและการพัฒนาของเมืองในปัจจุบัน และเพื่อให้ M-MAP 2 เป็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนในโครงข่ายที่มีความจําเป็นในลําดับรองให้สอดคล้องความต้องการในการเดินทางของประชาชนและทิศทางการพัฒนาในอนาคต และเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก ตรงตามความต้องการ รวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาให้แก่ประชาชน

โดยข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการเดินทางในปัจจุบันมีสัดส่วนของรถยนต์ส่วนตัวสูงสุดที่ 44.21% ขนส่งสาธารณะ 22.19% รถจักรยานยนต์ 21.82% เดิน 4.99% แท็กซี่ 4.51% รถรับส่ง 2.30% โดยในหมวดหมู่ของรถสาธารณะนั้นพบว่ามีการใช้รถโดยสารมากที่สุด 67.91% รถไฟฟ้า 29.70% รถตู้ 1.24% เรือโดยสาร 0.81% รถไฟชานเมือง 0.35%

ทั้งนี้ ในการวางแผนพัฒนาระบบรางเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบ มีการพัฒนาโครงข่ายและกระจายการเดินทางเป็นวงแหวนรัศมี /ผ่านเมืองแนวตะวันตก-ตะวันออก และเติมเต็มโครงข่ายในส่วนที่ขาดหายไปให้ครบสมบูรณ์ เชื่อมโยงสอดคล้องกับการเดินทางในขนส่งรูปแบบอื่น และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง หรือฟีดเดอร์ เชื่อมโยงกัน

นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้มีข้อตกลงร่วมกับประเทศไทยในการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อดําเนินโครงการ M-MAP 2 ที่ประเทศไทยกําลังเดินหน้าศึกษาอยู่ โดยประเทศญี่ปุ่นได้มอบหมายให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เป็นหน่วยงานผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น ในการร่วมมือทางวิชาการกับฝ่ายไทย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การคาดการณ์ผู้โดยสารระบบรางในประเทศที่มีการพัฒนาระบบรางอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรในแวดวงระบบรางของไทยได้นําไปปรับปรุงหรือพัฒนาแบบจําลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและนําไปพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความพร้อม และสามารถอํานวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ










กำลังโหลดความคิดเห็น