xs
xsm
sm
md
lg

ขร.เร่งกฎหมายลูก "พ.ร.บ.ขนส่งทางราง" วางมาตรฐานกลางด้านความปลอดภัย เข้มบทลงโทษ เล็งใช้ปลายปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขร.เร่งทำกฎหมายลูก วางมาตรฐานกลางกำกับความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เข้มบทลงโทษ ยกระดับบริการรถไฟ-รถไฟฟ้าเสร็จอีก 2 เดือน พร้อมรับ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ที่คาดจะเข้า ครม.พรุ่งนี้ (1 มี.ค.) คาดประกาศใช้ได้ปลายปีนี้

วันที่ 28 ก.พ. 65 กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดการประชุมกลุ่มย่อย (Working Group) ครั้งที่ 2 ตามกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการศึกษาการพัฒนาระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ และข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ สมาคมการค้า เข้าร่วม

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จากที่ ขร.ได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ...ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้ (1 มี.ค.) โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ โดยคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ปลายปี 2565 ภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. จะมีกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.ประมาณ 57 ฉบับ ซึ่งจะมีทั้งกฎกระทรวง และข้อบังคับ กำหนดเป็นรายละเอียด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มด้านระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง และกลุ่มด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น อัตราค่าโดยสาร และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ รวมถึงการบริหารจัดการทางให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

ในส่วนของโครงการศึกษาการพัฒนาระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางนั้น ขร.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา วงเงิน 24 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปผลศึกษาในเดือน เม.ย.นี้ โดยจัดทำมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงการขนส่งทางราง รวมทั้งจัดทำมาตรฐานร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางทั่วประเทศให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเดียวกัน

โดยหลังร่างรายละเอียดกฎหมายลูกแต่ละฉบับเสร็จ ซึ่งส่วนที่เป็นกฎกระทรวง จะเสนอ ครม.เห็นชอบ ส่วนที่เป็นข้อบังคับ เป็นอำนาจอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“ปัจจุบันผู้ให้บริการรถไฟ รถไฟฟ้า จะมีมาตรการด้านความปลอดภัยเป็นคู่มือในการปฏิบัติงานอยู่แล้วโดย ขร.ในฐานะหน่วยงานรัฐจะวางระบบกำกับดูแลความปลอดภัยมาตรฐานกลางควบคุมอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยจะมีบทลงโทษ ทั้งแพ่ง และอาญา ซึ่งระบบรถไฟฟ้าในเขตเมืองนั้นส่วนใหญ่ทำได้ดีเกินกว่าแนวคิดกฎกระทรวงกำหนดแล้ว แต่รถไฟระหว่างเมือง เนื่องจากระยะทางมีโครงข่ายยาวกว่า 4,000 กม. ทำให้การป้องกันควบคุมทำได้ยาก แต่หลังจากนี้จะต้องเข้มข้นในการดำเนินการตามที่กฎกระทรวงกำหนด เช่น การตรวจเขตทาง รฟท.จะต้องปรับไปใช้โดรนแทนรถตรวจทางเพราะจะสามารถตรวจได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า รวมถึง ปรับการส่งข้อมูลผลการตรวจสอบผ่านระบบออนไลน์ด้วย”

สำหรับระบบกำกับดูแลความปลอดภัยฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 กระบวนการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง ประกอบด้วย 8 หัวข้อ คือ 1. การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 2. การออกแบบขั้นต้นและกำหนดคุณสมบัติ 3. การออกแบบรายละเอียดและการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ

4. การจัดหา การก่อสร้าง การผลิต การติดตั้ง 5. การทดสอบและการเตรียมพร้อมใช้งาน 6. การฝึกอบรม 7. การดำเนินงานและการบำรุงรักษา 8. การกำจัดวัสดุอุปกรณ์ที่หมดอายุการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย

ส่วนที่ 2 จัดทำแผนพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. แผนพัฒนาระยะเร่งด่วน (1 ปี) ประกอบด้วย การจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาระบบกำกับดูแลและรับรองความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง รวมทั้งการจัดทำข้อกำหนด (Regulations) จัดทำมาตรฐาน (Standards) การจัดทำแนวทางและคู่มือ (Guidelines & Manuals) และการจัดทำแผนแม่บท

2. แผนพัฒนาระยะกลาง (5 ปี) ประกอบด้วย 1. การปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางเพิ่มเติม 2. การตรากฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง 3. การกำหนดกลไกเพื่อการบริหารจัดการ กำกับดูแลตรวจสอบ โครงการระบบรางของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน การพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง

3. แผนพัฒนาระยะยาว (10 ปี) ประกอบด้วย 1. การยกระดับระบบความปลอดภัยของการขนส่งทางรางให้มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับสากล 2. การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบคมนาคมในระดับภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากล

ด้านนายทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง ขร. กล่าวว่า ในการศึกษาได้รวบรวมและศึกษาเชิงเปรียบเทียบกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขนส่งทางรางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านขบวนรถขนส่งทางราง ด้านการจัดการเดินรถและการให้บริการ ด้านการควบคุมการเดินรถขนส่งทางราง และด้านสิ่งแวดล้อม นำมาจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวด

หมวดที่ 1 คำจำกัดความ มีเนื้อหาสาระสำคัญ ประกอบด้วย การให้คำจำกัดความ ความหมายของคำที่มีความหมายเฉพาะสำหรับใช้ในร่างกฎกระทรวง

หมวดที่ 2 บททั่วไป มีเนื้อหาสาระสำคัญ ประกอบด้วย การกำหนดเรื่องทั่วไปที่จะใช้บังคับเฉพาะในกฎกระทรวงนี้

หมวดที่ 3 มาตรฐานว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งทางราง เป็นหมวดที่มีเนื้อหาสาระสำคัญมากที่สุด เนื่องจากจะเป็นการกำหนดข้อกำหนด เงื่อนไขต่างๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มาตรฐานแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขนส่งทางราง

หมวดที่ 4 บทเฉพาะกาล เนื่องจากมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมีการประกาศให้ปฏิบัติตามหลังจากที่หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางมาก่อนแล้ว

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เวลาและงบประมาณในการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้นในบทเฉพาะกาลจึงจะมีการกำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎกระทรวงตลอดถึงมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

สำหรับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ฉบับนี้ยังเป็นเพียงร่างที่ที่ปรึกษาจัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อกรมการขนส่งทางรางเพื่อพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานฉบับนี้เท่านั้น ซึ่งยังจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอีก และผ่านความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางรางก่อนที่จะมีการดำเนินการเพื่อจัดทำกฎหมายตามขั้นตอนในการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ขร.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วม จึงได้จัดกิจกรรมระดมความเห็นจากทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนทุกท่าน ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาการมาตรฐานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางราง และยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด












กำลังโหลดความคิดเห็น