xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เกาะติดการตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ร่วมพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คมนาคม ประชุมติดตามความก้าวหน้าการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พร้อมร่วมมืออาชีวศึกษาพัฒนาบุคลากรระดับผู้ปฏิบัติงาน

วันนี้ (24 ก.พ.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม เรื่อง การติดตาม ความก้าวหน้าการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ครั้งที่ 3 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ด้วย Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายโชติชัย เจริญงาม ประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ กระทรวงคมนาคมภายใต้กำกับของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สนองตอบนโยบายดังกล่าวโดยเร่งพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมทุกมิติโดยได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 เพื่อยกระดับขีดความสามารถระบบรางของไทย เสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันวิจัยฯ มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบาง ร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง พัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง โดยมีเป้าหมายเร่งด่วน คือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ (Local Content) ได้ตามนโยบาย Thai First รวมทั้งการวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ EV มาใช้ในประเทศไทย พร้อมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเรียบร้อยแล้ว โดยมีการแต่งตั้ง รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม เป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ราย ได้แก่ 1. นายถาวร ชลัษเฐียร 2. ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย 3. ผศ.พิศิษฐ์ แสง-ชูโต 4. นายสมโภชน์ อาหุนัย และ 5. ดร.สุเมธ องกิตติกุล

นอกจากนี้ คณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ประกอบด้วยคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทน กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีระบบราง โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลสถาบันวิจัยฯ ให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการของสถาบันวิจัยฯ เป็นไปตามกฎหมาย และวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยฯ คณะกรรมการสถาบันวิจัยฯ จะดำเนินการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565

นโยบายของกระทรวงคมนาคม ได้มีการผลักดันให้สถาบันวิจัยฯ สร้างความร่วมมือร่วมกับสถาบันการศึกษา ผู้ให้บริการด้านระบบราง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ซึ่ง สถาบันวิจัยฯ ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง” เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 กับกรมการขนส่งทางราง สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน รวม 83 หน่วยงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยฯ และสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตขบวนรถ ชิ้นส่วน และวัสดุอุปกรณ์ระบบรางภายในประเทศทดแทนการนำเข้า

ทั้งนี้ การดำเนินการของสถาบันวิจัยฯ จะแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ผ่านบันทึกความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งทางรางกับประเทศภาคีที่มีความก้าวหน้าด้านระบบราง อาทิ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาช่วยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อให้สามารถผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ให้สถาบันวิจัยฯ จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการดำเนินการแต่ละเรื่องที่มีความเร่งด่วนให้ชัดเจน รวมถึงเร่งรัดการจัดทำยุทธศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีระบบรางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการสถาบันวิจัยฯ พิจารณาโครงสร้างองค์กรของสถาบันวิจัยฯ ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านระบบราง

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางรางและสถาบันวิจัยฯ แสวงหาความร่วมมือกับสถาบันระดับอาชีวศึกษาในการประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในระดับของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถาบันวิจัยฯ ผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น