กบอ.รับทราบความก้าวหน้า 4 บิ๊กโปรเจกต์อีอีซียังเดินหน้าตามแผนต่อเนื่องพร้อมขับเคลื่อนทุกโครงการให้ลงทุนตามแผนภายในปี 2565 ลุยตั้งบริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด หรือ EAD อีอีซีถือหุ้น 100% บริหารอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่ ATZ เมืองการบินภาคตะวันออก แจงคนละส่วนกับพื้นที่เอกชนได้รับสิทธิ์ในสัญญาร่วมทุน ส่วนรถไฟความเร็วสูงพร้อมบรรเทาผลกระทบเอกชนกรณีผลกระทบโควิดโดยไม่เป็นภาระรัฐ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพลังงาน เป็นประธานที่ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เมื่อ 21 ก.พ.ว่า ที่ประชุม กบอ.รับทราบความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุุนรัฐ-เอกชน (PPP) ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่อง พร้อมผลักดันให้ทุกโครงการดำเนินการลงทุนได้ตามแผนภายในปี 2565 นี้
โดยความก้าวหน้าเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา ที่ประชุม กบอ.รับทราบความก้าวหน้าการจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง และการจัดตั้ง บริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด หรือ EAD ที่มี สกพอ.ถือหุ้น 100% มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน (ATZ) ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบโดย สกพอ.จำนวน 474 ไร่ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่นอกเหนือพื้นที่เอกชนได้รับสิทธิ์พัฒนาตามสัญญาร่วมลงทุน โดยจะเร่งดำเนินการพัฒนาธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในพื้นที่ ATZ ให้ทันต่อการเปิดให้บริการสนามบิน เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาสามารถให้บริการแก่สายการบินได้อย่างครบวงจร ยกระดับเป็นสนามบินระดับโลกและเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
“อนาคต EAD ยินดีร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งพื้นที่ ATZ จะมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้เอกชนที่สนใจสามารถเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อให้การพัฒนาคล่องตัวจึงตั้งเป็นบริษัทย่อย เป็นนิติบุคคลใหม่ ในส่วนสัญญาร่วมลงทุน สกพอ.ยังคงเป็นคู่สัญญากับเอกชนเช่นเดิม คณะกรรมการบริหารสัญญา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กำกับดูแลตามกฎหมายคงเดิม” นายคณิศกล่าว
สำหรับความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ที่ประชุม กบอ.รับทราบการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาโดยเรื่องยังไม่ได้ส่งมาที่อีอีซีแต่อย่างใด โดยมีสาระหลัก ได้แก่ 1. กระทรวงคมนาคมให้เอกชนสร้างส่วนทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐ
2. การบรรเทาผลกระทบโควิด-19 อย่างเหมาะสมให้กับเอกชน ซึ่งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมาแต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญต่อการปรับระยะเวลาค่าสิทธิ์เป็นสำคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วก่อนดำเนินการ โดยภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมต่อภาคเอกชนบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในโครงการฯ ร่วมกัน
3. การส่งมอบพื้นที่ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ หรือได้เกือบครบทั้งหมด 100% แล้ว เหลือพื้นที่ส่งมอบเพียง 20 ไร่ หรือประมาณ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ รฟท.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565
นอกจากนี้ กบอ.ยังได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการธีมปาร์กและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” แห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นการลงทุนจาก บริษัท โซนี่พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ที่จะเป็นเมืองสวนสนุก เครื่องเล่นอัจฉริยะมาตรฐานโลก สามารถเปิดระยะที่ 1 ได้ในวันที่ 8 เมษายน 2565 ส่วนโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) บมจ.จะสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุน และเป็นผู้ดูแลทั้งระบบโดยจะขยายความจุห้องเย็น จากเดิม 4,000 ตัน เป็น 10,000 ตัน คาดว่าการดำเนินงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดภายในปี 2566
ขณะที่โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ 100% เตรียมเปิดทางการพฤศจิกายน 2565 รองรับการประชุมผู้นำเอเปก ฯลฯ