xs
xsm
sm
md
lg

“คีรี” โวย “ประยุทธ์” อีอีซีอืดทำโครงการอู่ตะเภาสุ่มเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (11 ก.พ. 2565) ในเฟซบุ๊กเพจ สนามบินสุวรรณภูมิ Suvannaphumi Airport ได้มีผู้เผยแพร่ จดหมายที่มีการลงนามจาก นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเนล เอวิเอชั่น จำกัด ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ระบุเรื่องราวเกี่ยวกับ โครงการสนามบินอู่ตะเภา ที่มีการประมูลหาเอกชนมาดำเนินโครงการ ได้มีการระบุตัวเลขคาดการณ์ผู้โดยสาร และตัวเลข ที่ภาคเอกชนใช้ในการคำนวณความเป็นไปได้ของโครงการ แต่เมื่อมีผู้ชนะการประมูล นั่นคือ กลุ่มบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเนล เอวิเอชั่น จำกัด และ ต้องมีการระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อมาดำเนินการ ซึ่งต้องมีความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

แต่จดหมายฉบับดังกล่าว ระบุถึง การมีข่าวในสื่อที่กล่าวถึงโครงการของรัฐบาล เช่น การขยายส่วนต่อขยายของสนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินดอนเมือง ที่นอกเหนือจากที่ระบบไว้ในสัญญาร่วมลงทุน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเอกชนในโครงการสนามบินอู่ตะเภา ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งโครงการสนามบินอู่ตะเภา เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ดังนั้น นายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาแก้ปัญหา เพราะวาดภาพฝันก่อนเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน กับตัวเลขของจริง บวกกับสถานการณ์โควิด ทำให้ห่างไกลราวกันฟ้ากับดิน แต่รัฐจะปล่อยให้เอกชนถูกลอยแพเพียงลำพังได้หรือ อีอีซี คือ เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น การเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจังคือบทบาทที่สำคัญของภาครัฐ

จากข่าวดังกล่าวทำให้น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งว่า หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นโครงการอีอีซีทั้งระบบ เนื่องจากมีหลายโครงการ ทั้งในโครงการอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการมาบตะพุด ในขณะที่ยังไม่เกิดแนวทางที่ชัดเจนจากภาครัฐ จะทำให้เกิดความล่าช้า และ นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อทุกโครงการในอีอีซี

ทั้งนี้ 4 โครงการหลักในอีอีซี ได้แก่ โครงรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีมูลค่าการลงทุน 654,921 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนลงทุนลงทุนสูงถึง 416,080 ล้านบาท (64%) เพื่อให้ได้ข้อสรุป ภาครัฐต้องเข้ามาเร่งแก้ปัญหาให้กับสนามบินอู่ตะเภา และเอาจริงเอาจังกับโครงการอีอีซีให้มากขึ้น หากยึดแนวทางรัฐร่วมเอกชนแบบ PPP โดยร่วมกันแก้ปัญหา มองเป้าหมายของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง เชื่อมั่นว่า จะหาทางออกได้อย่างแน่นอน










กำลังโหลดความคิดเห็น