รฟท.ขยาย MOU ถกแก้ไขสัญญาร่วมทุน "ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน" อีก 3 เดือน เปิดโมเดลเลื่อนจ่ายค่างานโยธาจากปีที่ 6 เป็นปีที่ 3 แลก ซี.พี.รับภาระค่าก่อสร้างช่วงทับซ้อนรถไฟไทย-จีน "บางซื่อ-ดอนเมือง" เพิ่ม 9 พันล้าน จ่ายค่าแอร์พอร์ตลิงก์ปีละ 10% หากโควิดจบจ่ายส่วนที่เหลือบวกดอกเบี้ย
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มอบหมายให้ รฟท.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติ โดย รฟท.ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานเพื่อวางกรอบข้อกำหนดดำเนินการโดยมีระยะเวลาการเจรจา 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นั้น ขณะนี้การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ อีกทั้งยังมีขั้นตอนในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับระเบียบและข้อกฎหมายซึ่งจะต้องมีการนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่างแก้ไขสัญญา ทั้งอัยการสูงสุด และ ครม. จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาใน MOU ออกไปอีก 3 เดือน หรือถึงวันที่ 24 เมษายน 2565
ทั้งนี้ ทางเอกชนได้ทำหนังสือแจ้งขยายเวลาเจรจามายัง รฟท.แล้ว โดยยังเป็นการดำเนินการภายใต้มติ กพอ.ที่ ครม.เห็นชอบให้กรรมการ 3 ฝ่ายหาข้อยุติร่วมกัน
โดยเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 คณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รฟท. สกพอ. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้มีการประชุมร่วมกันใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่เกินกว่าเหตุสุดวิสัย โดยแนวทางการเยียวยาจะต้องไม่เกิดผลกระทบทำให้รฟท.เสียหาย ไม่มีภาระทางการเงินใดๆ เพิ่มเติม 2. ประเด็นการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) กับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่ง กพอ.มีมติให้มาดำเนินการแก้ไขโดยไม่เพิ่มภาระแก่ภาครัฐ ซึ่งต้องมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อสรุปรายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญา โดยทางที่ปรึกษาของอีอีซีเข้ามาช่วยพิจารณาในแต่ละแนวทาง
สำหรับการขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.090 ล้านบาท ซึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนฯ กำหนดชำระในวันที่ 24 ต.ค. 2564 นั้น แต่จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลงไปอย่างมาก โดยทางเอกชนเสนอขอแบ่งชำระปีละ 10% เป็น 10 งวดนั้น ในการพิจารณายังกังวลกรณีสถานการณ์โควิด-19 จะยุติเมื่อใด หรือไม่มีแนวโน้มยุติ ดังนั้นจะต้องหาโมเดลที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน
@จ่ายค่าแอร์พอร์ตลิงก์ปีละ 10%-โควิดจบรวบจ่ายส่วนที่เหลือบวกดอกเบี้ย
รายงานข่าวแจ้งว่า การขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.090 ล้านบาท 10 งวดนั้น การพิจารณาของที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย เห็นว่ากรณีผลกระทบจากโควิด-19 ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยุติเมื่อใด แต่ก็ไม่ควรกำหนดว่าจะให้แบ่งจ่าย 10 ปีเช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นว่าการจ่ายเฉลี่ยที่ 10% หรือจำนวน 1,067.11 ล้านบาท แบบปีต่อปีไปก่อน และหากโควิด-19 ยุติลง ให้เอกชนชำระส่วนที่เหลือบวกดอกเบี้ย โดยความชัดเจนว่าโควิด-19 สิ้นสุดแล้วนั้น จะต้องมีนิยามที่ชัดเจนเพื่อกำหนดในเงื่อนไขสัญญาที่จะแก้ไข เช่น มีประกาศ ศบค. เป็นต้น
@เปิดโมเดล "วิน-วิน" ซี.พี.รับภาระค่าก่อสร้างทับซ้อน "ไทย-จีน" แลก รฟท.เลื่อนจ่ายคืนเร็วขึ้น
ส่วนปัญหาโครงสร้างทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนนั้น กพอ.ให้ รฟท.เจรจากับทางเอเชีย เอรา วันให้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมส่วนของรถไฟไทย-จีน ตามมาตรฐานจีน รองรับความเร็ว 250 กม./ชม. ส่วนโครงสร้างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้ดำเนินการตามแบบและเงื่อนไขเดิม
โดยคณะทำงาน รฟท.ได้พิจารณาแบบงานโยธาโครงสร้างร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และจัดทำราคากลางในการดำเนินการวงเงินรวม 24,085 ล้านบาท (ไม่รวมส่วนของรางรถไฟ) โดยแบ่งเป็นส่วนของเอเชีย เอรา วัน ที่ต้องรับผิดชอบในเงื่อนไขสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 11,006 ล้านบาท ขณะที่รถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 (ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง) มีกรอบวงเงินเดิมที่ 3,896 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากกรอบประมาณ 9,200 ล้านบาท ซึ่งตามแนวทางของ กพอ.ที่ให้รฟท.ดำเนินการโดยไม่เพิ่มภาระงบประมาณนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และเงื่อนไขการจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้สามารถก่อสร้างโครงสร้างร่วมได้ทันกับกำหนดเปิดเดินรถ
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เอกชนจะต้องดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ โดย รฟท.จะเริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างในปีที่ 6 (นับจากเข้าพื้นที่ก่อสร้าง) ในอัตราคงที่ เป็นระยะเวลา 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 2.375% ซึ่งจากการหารือร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินของอีอีซี เห็นว่ามีความเป็นไปได้กรณีที่ รฟท.จะเลื่อนชำระค่าก่อสร้างให้เร็วขึ้น จากปีที่ 6 เป็นปีที่ 3 ซึ่งการชำระคืนเอกชนเร็วขึ้นช่วยลดภาระดอกเบี้ย ส่วนวงเงินรวมไม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นแนวทางการแก้ไขการร่วมลงทุน ที่สามารถแก้ปัญหาการก่อสร้างช่วงทับซ้อนที่รถไฟไทย-จีน ที่มีค่าก่อสร้างเพิ่ม 9,200 ล้านบาท โดย รฟท.ไม่ต้องของบประมาณเพิ่มอีกด้วย
สำหรับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีต้นทุนโครงการที่ 118,611 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย 2.375% อัตราคิดลด (Discount Rate) ระยะ 10 ปี ประมาณ 30,000 ล้านบาท วงเงินรวมเป็น 149,650 ล้านบาท โดยเงื่อนไขเดิม รฟท.กำหนดชำระปีที่ 6 วงเงิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งกรณีที่ รฟท.เลื่อนชำระเร็วขึ้นเป็นปีที่ 3 จะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยลงไปได้ประมาณ 700 ล้านบาท หรือทำให้ต้นทุนรวมเหลือ 142,000 ล้านบาท
ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินที่จะจ่ายแต่ละปีที่รัฐจะประหยัดที่สุด โดยมี 3 ทางเลือก คือ กำหนดเฉลี่ยเท่ากันทุกปี หรือจ่ายตามความคืบหน้าการก่อสร้าง หรือเฉลี่ยค่างานโยธาส่วนเพิ่มรถไฟไทย-จีน ช่วงทับซ้อน 9,200 ล้านบาท แบ่งจ่ายใน 3 ปีแรก โดย รฟท.จะหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ สบน.ร่วมพิจารณาเงื่อนไขต่อไป