สะพัดสายการบินนกแอร์ดอดยื่นขออนุญาตเปิดเส้นทางบิน โคราช-เชียงใหม่, โคราช-หาดใหญ่ และโคราช-ภูเก็ต เมื่อเดือนที่แล้ว คาดกลางปีจะได้เปิดบิน ฟื้นสนามบินร้างหลังไร้เที่ยวบินเชิงพาณิชย์มานานเกือบ 4 ปี
วันนี้ (10 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊กที่รายงานความเคลื่อนไหวในจังหวัดนครราชสีมาหลายเพจ ได้แก่ Korat : เมืองที่คุณสร้างได้, Korat Next Step และเพจอื่นๆ ระบุว่า สายการบินนกแอร์ได้ยื่นขออนุญาตเปิดเส้นทางที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา แบบเที่ยวบินประจำ 3 เส้นทาง ได้แก่ นครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-หาดใหญ่ และนครราชสีมา-ภูเก็ต ไป-กลับ สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน โดยมีการส่งหนังสือแจ้งผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา เมื่อช่วงวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่านกแอร์จะสามารถเปิดทำการบินที่ท่าอากาศยานนครราชสีมาได้ ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2565 โดยทางสายการบินกำลังนำเข้าเครื่องบินมาเพิ่มเติมในฝูงบินอีกประมาณ 6 ลำ
อ่านโพสต์จากเพจ "Korat : เมืองที่คุณสร้างได้" คลิกที่นี่
อ่านโพสต์จากเพจ "Korat Next Step" คลิกที่นี่
พร้อมกันนี้ ยังได้เผยแพร่หนังสือของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 11 พ.ย. 2564 อนุญาตให้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับจัดสรรเส้นทางบินภายในประเทศเพิ่มเติมอีก 12 เส้นทาง ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ-สมุย และกลับ, 2. ภูเก็ต-สมุย และกลับ, 3. อุบลราชธานี-ภูเก็ต และกลับ, 4. เชียงใหม่-ภูเก็ต และกลับ, 5. เชียงใหม่-นครราชสีมา และกลับ, 6. เชียงใหม่-หาดใหญ่ และกลับ, 7. เชียงใหม่-นครศรีธรรมราช และกลับ, 8. เชียงใหม่-สุราษฎร์ธานี และกลับ 9. นครราชสีมา-หาดใหญ่ และกลับ, 10. นครราชสีมา-ภูเก็ต และกลับ, 11. กรุงเทพฯ-เบตง และกลับ และ 12. เบตง-หาดใหญ่ และกลับ ลงนามโดย นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับกระแสข่าวการเปิดทำการบินเส้นทางนครราชสีมาของสายการบินนกแอร์เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย. 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) โดยสายการบินนกแอร์แจ้งว่าจะมีการปรับปรุงการดำเนินงานเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือการขยายเครือข่ายการบินและฝูงบิน ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการขออนุมัติในการนำเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800 เข้ามาให้บริการเพิ่มเติมจำนวน 6 ลำ และเตรียมพร้อมเปิดเส้นทางใหม่สู่สนามบินนครราชสีมา อู่ตะเภา (ระยอง) หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) และเบตง (ยะลา) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่จังหวัดที่ยังไม่มีเที่ยวบินแบบประจำให้บริการหรือมีจำนวนไม่มาก
หลังจากนั้น นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เปิดเผยว่า นกแอร์ได้จัดทำแผนเพิ่มจุดบินและความถี่ของเที่ยวบิน ซึ่งในช่วงกลางปี 2565 มีแผนจะเปิดทำการบินเส้นทางเมืองรองที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา จำนวน 2 เส้นทาง คือ นครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-หาดใหญ่ หรือภูเก็ต เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางทางการบินเชื่อมไปยังภาคเหนือและภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางด้วยรถจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังภาคใต้จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 13 ชั่วโมง อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารจากนครราชสีมา ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ไม่ต้องนั่งรถมายังดอนเมืองเพื่อต่อเครื่องไปยังภาคเหนือ หรือภาคใต้ สามารถใช้บริการที่สนามบินนครราชสีมาได้เลย ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีความต้องการเดินทางหลายร้อยคนต่อวัน ต่อมาในช่วงเดือน พ.ย. 2564 นายวุฒิภูมิ เข้าพบนายประวัติ ดวงกันยา อดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา เพื่อหารือเรื่องการเปิดเส้นทางบินจากท่าอากาศยานนครราชสีมา ทำให้เส้นทางบินนครราชสีมาเริ่มเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลฯ
สำหรับท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออก ถนนเพชรมาตุคลา (นครราชสีมา-บุรีรัมย์) ประมาณ 26 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่ เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม สร้างขึ้นเพื่อใช้แทนท่าอากาศยานกองบิน 1 นครราชสีมา ของกองทัพอากาศ ที่ใช้ในภารกิจทางการทหาร ที่ผ่านมา มีสายการบินต่างๆ เช่น การบินไทย, แอร์อันดามัน, แอร์เอเชีย, แอร์ฟีนิคซ์, แฮปปี้ แอร์, ไทยรีเจียนอลแอร์ไลน์, กานต์แอร์ และนิวเจน แอร์เวย์ส มาเปิดเส้นทางบินแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการมานานเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่สายการบินนิวเจนแอร์เวย์สทำการบินเป็นวันสุดท้ายเมื่อ 16 เม.ย. 2561