ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตรปลดป้าย “KLANG PLAZA” ทิ้งภาพธุรกิจห้างฯ ท้องถิ่นคู่โคราชมา 30 ปี เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ARPAYA อาภาญา” เผยร่วมทุน 3 ชาติ “ไทย-สิงคโปร์-มาเลเซีย” ทำธุรกิจแนวใหม่ภายใต้โปรเจกต์ “มัลติยูส” เป็นอาคารอเนกประสงค์เพื่อการเรียนรู้ ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ด้านการศึกษา กีฬา เเละกลุ่มเทคโนโลยี
หลังจากที่ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร ห้างฯ ท้องถิ่นโคราชที่เปิดให้บริการมานานกว่า 30 ปี และเป็นห้างฯ 1 ใน 3 สาขาของบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ของตระกูล “มานะศิลป์” ได้ปิดให้บริการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดห้างฯ คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร ถ.จอมสุรางค์ยาตร เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ได้มีความเคลื่อนไหวอีกครั้งโดยมีรถเครนมายกป้าย “KLANG PLAZA” ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ข้างอาคารของห้างฯ ออกแล้วเปลี่ยนเป็นป้ายใหม่ขนาดใหญ่ชื่อ “ARPAYA อาภาญา” เพื่อต้องการทิ้งภาพธุรกิจห้างสรรพสินค้าเปลี่ยนเป็นโฉมใหม่ภายใต้โปรเจกต์ “มัลติยูส” เป็นอาคารอเนกประสงค์เพื่อการเรียนรู้ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับทางด้านการศึกษา กีฬา เเละกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งโรงเรียนสอนพิเศษ สำนักงาน รวมถึงร้านค้าต่างๆ ฯลฯ
นายไพรัตน์ มานะศิลป์ รองประธานบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เปิดเผยว่า ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่าจอมสุรางค์ยาตรกำลังเปลี่ยนรูปแบบใหม่ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ห้างได้รับผลกระทบต้องปิดให้บริการชั่วคราวไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนเดินห้างฯ เพื่อซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ เปลี่ยนไป รูปแบบห้างสรรพสินค้าดีพาร์ตเมนต์ที่แยกเป็นแผนกสินค้าต่างๆ ไม่ตอบโจทย์ยุคนี้ ทำให้เราต้องปรับตัวมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และปรับปรุงใหม่ไปในทางที่ดีกว่าเดิม เลือกเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยม
“โดยที่นี่เป็นธุรกิจใหม่ของคลังพลาซ่า เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ เปลี่ยนชื่อตึกนี้ใหม่จะเป็นโปรเจกต์มัลติยูส คืออาคารเอนกประสงค์ที่มีหลากหลายธุรกิจมารวมอยู่ในพื้นที่ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “อาภาญา” ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าเหมือนเดิม จะผสมผสานหลายอย่าง ภายในพื้นที่ห้างฯ เดิมจะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ไม่มีสินค้าต่างๆ เหมือนห้างฯ ในอดีต”
นายไพรัตน์กล่าวต่อว่า เราเปลี่ยนจากผู้บริหารห้างฯ เป็นผู้บริหารพื้นที่ คอนเซ็ปต์กว้างๆ ของตึก “อาภาญา” จะมีพื้นที่เช่าเกี่ยวกับด้านศูนย์การศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านกีฬา ด้านเทคโนโลยี เป็นอาคารเพื่อการเรียนรู้ และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ออฟฟิศ ร้านค้ามีหลายธุรกิจมาอยู่ที่นี่ เพราะทำเลที่นี่อยู่กลางเมืองโคราชใกล้ศาลากลางจังหวัดฯ ใกล้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) การเดินทางสะดวกมีความพร้อมทุกด้าน และจะทิ้งภาพห้างฯ คลังพลาซ่าเดิมไปเลย ส่วนเงินลงทุนตรงนี้ยังไม่สรุปเพราะเป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจครั้งใหม่
สำหรับโปรเจกต์ “อาภาญา” จะมี “คุณเง็ก” ประภากร มานะศิลป์ ผู้เป็นน้องสาวเป็นผู้บริหารพื้นที่ทั้งหมด มีหุ้นส่วน 3 ประเทศ เป็นนักธุรกิจจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนตนจะเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ส่วนรายละเอียดภายใน “อาภาญา” มีอะไรบ้างต้องรอให้ทางทีมผู้บริหารใหม่มาแถลงข่าวอีกครั้ง แต่คร่าวๆ น่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการเป็นโซนๆ ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป
ส่วนห้างฯ คลังพลาซ่าอีก 2 สาขาของบริษัทคลังพลาซ่า คือ ห้างฯ คลังพลาซ่า สาขาถนนอัษฎางค์ และ คลังวิลล่า ถนนสุรนารายณ์ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติต่อไป
นายไพรัตน์กล่าวอีกว่า อาคารห้างฯ คลังพลาซ่า สาขา จอมสุรางค์ยาตรที่เปลี่ยนเป็น “อาภาญา” นี้เราเพิ่งต่อสัญญาเช่าที่ดินตรงนี้ออกไปอีก 20 ปี ตั้งแต่ช่วงรีโนเวตห้างคลังพลาซ่า จอมสุรางค์ ปี 2557 และจะสิ้นสุดปี 2578 การที่สื่อโซเชียลฯ ลงข่าวว่าเราปิดกิจการถาวรเลิกทำห้างฯ แล้ว มันไม่ใช่ เพราะเราเพิ่งลงทุนรีโนเวตไปกว่า 1,200 ล้านบาท ขนาดนี้จะหยุดได้ยังไง แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ และโรคระบาดโควิดเราต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่
"ส่วนโปรเจกต์การก่อสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ของคลังพลาซ่า คือ ห้างฯ คลังสเตชั่น บนที่ดินเช่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ หนองไผ่ล้อม เขตเทศบาลนครราชสีมา ใช้งบลงทุนประมาณ 750 ล้านบาทนั้นได้ก่อสร้างชั้นใต้ดินของอาคารหลัก มีความคืบหน้าไปกว่า 40% แล้ว แต่หลังจากทำหนังสือถึงการรถไฟฯ หลายครั้งเพื่อขอดูแบบการก่อสร้าง ทั้งทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง แล้วแต่ยังเงียบหายไม่ชัดเจน เพราะทางรถไฟทั้ง 2 โครงการมีส่วนสำคัญทำให้ทางเข้าหน้าห้างฯ คลังสเตชั่นตัน และหากสร้างไปแล้วจะแก้แบบไม่ได้ จึงชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน แต่ยืนยันยังไม่ล้มโครงการก่อสร้างคลังสเตชั่น หรือคลังพลาซ่า สาขา 4 แน่นอน เพราะลงทุนเบื้องต้นไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท" นายไพรัตน์กล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง “ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า” ถือเป็นตำนานห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นที่ยังคงยืนหยัดฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ มาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยเจ้าของเป็นคนโคราชเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2501 รุ่นพ่อคือ นายไพศาล มานะศิลป์ เริ่มต้นจากร้านขายอุปกรณ์การเรียนในชื่อ “คลังวิทยา” ตั้งอยู่ข้างวัดพายัพ พระอารามหลวง ก่อนขยายเป็น “คลังวิทยาดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ปี 2519 ในฐานะห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของภาคอีสาน จนกลายมาเป็นห้างสรรพสินค้า “คลังพลาซ่า” ตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ เมื่อปี 2529 และเพิ่มสาขา “คลังพลาซ่า ถนนจอมสุรางค์ยาตร” เยื้องลานย่าโม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคอีสานในขณะนั้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวโคราชและคนอีสานเป็นอย่างดี ต่อมาปี 2553 ได้เพิ่มสาขา “คลังวิลล่า ถนนสุรนารายณ์” ตั้งอยู่ริมถนนสุรนารายณ์ เยื้องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) นครราชสีมา ท่ามกลางผลกระทบจากการแข่งขันอันดุเดือดของทุนใหญ่จากส่วนกลางที่รุกเข้ามาปักฐานในโคราช ทั้ง เดอะมอลล์, เทอร์มินอล 21 และเซ็นทรัล พลาซา
อย่างไรก็ตาม คลังพลาซ่ายังคงยืนหยัดต่อสู้อย่างแข็งแกร่ง ในปี 2557 ทุ่มเม็ดเงินลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาทรีโนเวตหรือปรับปรุงทุกชั้นทุกแผนกครั้งใหญ่ของ “คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร” ถือเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีของคลังพลาซ่า โดยปรับโฉมใหม่ทั้งหมดทุกชั้นทุกแผนก ทั้งส่วนภายในและภายนอกอาคารของห้างฯ ที่มีอยู่ทั้งหมด 9 ชั้น ให้เป็นสไตล์โมเดิร์น และมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น จากเดิมมีพื้นที่ขาย 20,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) เพิ่มเป็น 30,000 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 33% ซึ่งคลังพลาซ่าแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 60,000 ตร.ม. แบ่งเป็นที่จอดรถ 30,000 ตร.ม.
พร้อมกันนี้ยังได้เปลี่ยนโลโก้ใหม่ของคลังพลาซ่าให้มีความทันสมัยมากขึ้นและตอบโจทย์ความเป็นห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นของคนโคราชในรูปโฉมใหม่ ซึ่งมีรากเหง้าเติบโตมาจากร้านจำหน่ายหนังสือ “คลังวิทยา” ได้อย่างชัดเจน โดยโลโก้ใหม่มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายสันหนังสือเรียงกัน 9 ชั้น เท่ากับจำนวนชั้นของห้างฯ และใช้สีสันหลากหลายบ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Infinite Knowledge” หรือ “การเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด” แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจซบเซาและวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดกระหน่ำต่อเนื่องถึง 3 ระลอก ห้างฯ คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร ต้องปิดตัวลงหลังเปิดดำเนินการมายาวนานถึง 30 ปี