“ศักดิ์สยาม” นั่งหัวโต๊ะหารือภาคเอกชนเร่งแก้ปัญหาขนส่งเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน เร่งชง ครม.เคาะสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ก.พ.นี้ คาดเปิดบริการปี 2569 จี้ รฟท.พัฒนาสถานีหนองคาย 80 ไร่ รองรับขนส่งผ่านสะพานเดิม ด้านเอกชนร้องช่วยแก้ปัญหาค่าระวางจากไทยไปจีนสูง
วันที่ 9 ก.พ. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนต่อการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชน และเกิดการบูรณาการอย่างรอบด้าน เพื่อเป็น Team Thailand ในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้งไทย ลาว และจีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย โดยมีผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาคเอกชน เช่น หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมผู้ประกอบการด้านการขนส่ง ฯลฯ ร่วม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ความสำคัญของโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟไทย ลาว และจีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา ในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคที่ยั่งยืน เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกของไทย ซึ่งจากปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่ง (demand) ในปัจจุบันนั้น กับโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขนส่งข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไทย-ลาว-จีน ที่มียังมีเพียงพอ
ส่วนแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีนนั้น ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2569
2. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยมีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ซึ่งปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการของบกลางเพื่อออกแบบ
3. มีการเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวัน และจากขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ ซึ่งจะมีศักยภาพการขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า
4. เร่งพัฒนาสถานีรถไฟหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ โดยจะมีเครื่องโมบายล์เอกซเรย์ โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกาศหาเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565
5. ในระยะยาวจะพัฒนาพื้นที่ย่านนาทา จังหวัดหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเร่งกระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จในปีนี้ และก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 2 ปี
ส่วนภาคเอกชนได้แสดงความเห็นว่าควรเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย รวมถึงสถานีนาทาในแผนระยะเร่งด่วน พร้อมเสนอให้มีการเปิดด่าน 24 ชั่วโมง และให้บูรณาการร่วมกันระหว่างสถานีนาทา และท่านาแล้ง และให้ปรับแผนรองรับการขนส่งทางรถไฟไทย-ลาวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน รองรับ 30 ขบวนต่อวัน และให้ รฟท.เตรียมพื้นที่สำหรับการรองรับการขนส่งสินค้าเกษตรที่เป็นผักและผลไม้ รวมถึงการจัดเตรียมระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold - Chain) เสนอให้มีการกำหนดจุดตรวจร่วมพิธีทางศุลกากร (CCA) และพิจารณาเพิ่มจุดผ่อนปรนบริเวณพื้นที่ชายแดน
นอกจากนี้ เสนอให้แก้ไขประเด็นค่าขนส่งสินค้าทางรางจากจีนมาไทยที่พบว่ามีค่าระวางที่ไม่สูง แต่กรณีการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนมีค่าระวางที่สูง, พิจารณาจัดทำแผนการเชื่อมโยงผ่านลาว และจีนไปยังเอเชียกลาง ยุโรป และเส้นทางในบริเวณทางใต้ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง รวมถึงพิจารณาเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางมายังกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้สั่งการให้รับความเห็นภาคเอกชนไปดำเนินการ เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศทั้งไทย ลาว และจีน รวมถึงได้สั่งการให้ รฟท.จัดทำ Action Plan สำหรับดำเนินการจัดทำลานกองเก็บตู้สินค้า (CY) และเตรียมแคร่สำหรับ Cold - Chain พร้อมนี้ได้สั่งการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้ภาครัฐได้รับทราบความต้องการของภาคเอกชน โดยจะให้มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยต่อไป