รฟท.รับมอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่จากจีน ชุดแรก 20 คัน มีระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (ATP) เพิ่มความปลอดภัย เครื่องยนต์รองรับ B20 เร่งทดสอบ คาด พ.ค.ทยอยวิ่ง ที่เหลือ 30 คันส่งครบ ก.พ. 66 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ณ สถานีรถไฟศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในพิธีรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ ระยะที่ 1 จำนวน 20 คัน จากทั้งหมดจำนวน 50 คัน จากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยมีคณะผู้บริหารการรถไฟฯ หน่วยงานภาคเอกชน คณะสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.ทำสัญญาในโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท กับกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 โดยมีกำหนดระยะเวลาการส่งมอบรถจักรแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คัน ภายในระยะเวลา 540 วัน นับจากวันลงนามฯ หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และระยะที่ 2 จำนวนที่เหลืออีก 30 คัน ส่งมอบภายใน 915 วัน นับจากวันลงนามฯ หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
การรับมอบรถจักรดีเซลไฟฟ้า ระยะที่ 1 จำนวน 20 คันนั้น เป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและสร้างรายได้ของการรถไฟฯ โดยเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ผู้ผลิตรถจักรดีเซลชั้นนำของประเทศจีน รถจักรดีเซลไฟฟ้ามีจุดเด่น โดยออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีสมรรถนะในการลากจูงขบวนรถโดยสารสูงสุด 550 ตัน ได้ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลากจูงขบวนรถสินค้าที่ 2,100 ตัน ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ มีการติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection - ATP) รองรับกับมาตรฐาน ETCS level 1 : (European Train Control System: ETCS) รวมถึงมีเครื่องยนต์รถจักร ผลิตจากประเทศเยอรมนี ใช้เครื่องยนต์ MTU ของยุโรป รองรับการใช้น้ำมันไบโอดีเซล จนถึง B20 ได้ อีกทั้งเป็นเครื่องยนต์เทียร์ 3 ปล่อยมลพิษน้อยกว่าเทียร์ 1 ซึ่งมีค่ามาตรฐานในการปล่อยควันไอเสียต่ำตามมาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้ติดตั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วงเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินรถอีกด้วย
ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนรถจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน และบางคันมีการใช้งานมากกว่า 50 ปี จึงถือเป็นการพลิกโฉมการให้บริการรถไฟครั้งสำคัญ โดยจะทำให้ รฟท.มีรถจักรเพียงพอต่อการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มากขึ้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ทยอยเปิดใช้งานในอนาคต
ปัจจุบัน รฟท.มีความต้องการใช้หัวรถจักร 250 คัน/วัน แต่เนื่องจากหัวจักรส่วนหนึ่งมีอายุมาก ใช้งานมานาน จึงมีความพร้อมในการใช้งานประมาณ 70% ซึ่งหัวรถจักรใหม่ที่รับมอบมาจะเพิ่มศักยภาพในการให้บริการได้เป็น 80% โดยหัวรถจักรรุ่นใหม่ รถไฟจัดซื้อพร้อมอะไหล่มีการรับประกันตัวรถ 3 ปี รับประกันเครื่องยนต์และระบบช่วงล่าง 5 ปี
จากนี้ยังเป็นขั้นตอนการตรวจรับ ซึ่งจะมีการทดสอบระบบต่างๆ ของหัวรถจักร ทั้งระบบเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า ระบบเบรก ระบบความปลอดภัย คาดว่าจะนำหัวรถจักรจำนวน 20 คันแรกออกให้บริการได้ในเดือน พ.ค. 2565 ส่วนจะนำไปใช้ในเส้นทางใดบ้าง จะมีการพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการของสินค้า และผู้โดยสารในปัจจุบัน
นอกจากนี้ รฟท.ยังมีแผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนมาให้บริการผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าเพิ่ม เพื่อให้สอดรับกับโครงการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย โครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 184 คัน เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุก
ตู้สินค้า จำนวน 965 คัน นำเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะมีการพิจารณาวิธีระหว่างเช่าหรือซื้อ และในอนาคตจะมีโครงการจัดหารถดีเซลรางเชิงสังคม จำนวน 216 คัน เพื่อนำมาทดแทนรถเดิมและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
“การรถไฟฯ มั่นใจว่าโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นรถจักรที่มีความทันสมัย มีสมรรถนะการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ซึ่งช่วยให้ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารมีความรวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ของการรถไฟฯ ตลอดจนเสริมศักยภาพการขนส่งทางรางให้ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”