รมว.คมนาคม ร่ายยาวแจงสภายิบ คมนาคมไร้รอยต่อ เชื่อมไทย เชื่อมโลก ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ย้ำ ทุกโครงการยึดกฎหมาย รอบคอบ ไม่มีซ้ำรอย “ค่าโง่” เหมือนอดีต โวปีนี้จีดีพีประเทศโตขึ้น 1-3% หรือ 4 แสนล้าน
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่อาคารรัฐสภา ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้อภิปรายการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยระบุว่า กระทรวงคมนาคม มีการปฏิบัติงานซึ่งล้วนแล้วแต่ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยึดหลักกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้ทุกท่านได้สบายใจว่าทุกขั้นตอนของกระทรวงคมนาคม ยึดหลักประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงทั้งภายในประเทศไทย และเชื่อมโยงโลก โดยถือเป็นกระทรวงหลักที่ดูแลรับผิดชอบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่แม้ว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 แต่กระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้หยุดทำงาน เนื่องจากการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ ด้านการขนส่ง จะทำให้ไทยสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้
ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การแก้ปัญหาการจราจรบนถนนพระราม 2 ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการใดที่ติดปัญหา และอุปสรรค ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และเตรียมการดำเนินการไว้ทั้งหมด ยึดหลักสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เสียค่าใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล บูรณาการทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายเสนอแนะ โดยแบ่งออกเป็นประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก การเดินทางของคนในเมือง “ระบบตั๋วร่วม” ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เพื่อนสมาชิกระบุว่า มีการดำเนินการล่าช้า ขอเรียนว่า โครงการของกระทรวงคมนาคมเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้ทันใจ เพราะมีกฎหมาย และระเบียบที่ต้องปฏิบัติอย่างรอบคอบ นอกจากนั้น ต้องตามแก้ปัญหาในอดีต เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น กรมการขนส่งทางราง มีการตั้งขึ้นสำเร็จในรัฐบาลนี้ แต่การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีสัญญาสัมปทานไปแล้วหลายเส้นทาง และเมื่อยังไม่มีกฎหมาย จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการเจรจาต่อรองแต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ทันที พร้อมย้ำว่า ระบบตั๋วร่วมนี้พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาค่าโง่ ซึ่งตนยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาอีก
อย่างไรก็ตาม คมนาคมได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … คาดว่า จะเสนอ ครม. ภายในกลางปี 2565 มีการจัดให้มีระบบฟีดเดอร์ ทั้งรถเมล์ EV และเรือ EV โดย ขสมก.จัดหารถ EV-Bus 2,511 คัน และดำเนินโครงการจ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน แบบพลังงานสะอาด มีแผนการเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ W-Map จำนวน 50 จุด จะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ประเด็นที่สอง การคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างเมือง
กระทรวงคมนาคม เร่งรัดระบบรถไฟทางคู่ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า โดยจะสามารถลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รถไฟทางคู่นี้ จะเชื่อมโยงจากด้านตะวันออกสู่ตะวันตก จากภาคเหนือสู่ภาคใต้ และเชื่อมต่อระบบขนส่งทางรางไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
อีกทั้ง ยังแผนพัฒนาท่าเรือบก เพื่อขนตู้คอนเทนเนอร์ไปสู่รถไฟ โดย สนข.จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือทางบกแล้วเสร็จ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย กำลังทำการศึกษาจัดทำรายงาน PPP ตาม พ.ร.บ.เพื่อจะทำการลงทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน ซึ่งคาดว่า จะทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น ประเด็นต่อมา การเตรียมการเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน แบบไร้รอยต่อ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และ จีน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานดำเนินการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวงเป็นองค์ประกอบ เพื่อบูรณาการตามแผนงาน
อย่างไรก็ตาม รถไฟของประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟจีน-ลาว ได้อยู่แล้ว มีการเชื่อมโยงขนส่งสินค้าทุกวัน โครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ ดังนั้น ข้อกังวลเรื่องการเชื่อมต่อเหล่านี้ ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา เรามีความพร้อมในฝั่งดีมานด์ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทางฝั่งลาวยังไม่เปิดให้คนเข้าไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่อง เมื่อลาวเปิดพรมแดนเมื่อใด คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปประสานงานทันที เพื่อให้พี่น้องประชาชนของทั้ง 3 ประเทศ สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้รวมถึงสินค้าทั้งหมด
ส่วนการเปลี่ยนถ่ายสินค้า วางพื้นที่ไว้ที่ย่านนาทา จ.หนองคาย นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ แห่งที่ 6 ให้สามารถรองรับรถยนต์ รถบรรทุก และรถไฟ ซึ่งขณะนี้ได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทย และลาวจะออกค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย
สำหรับกรณีที่ นายไชยา พรหมา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้สอบถามว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแผนการเชื่อมต่ออย่างไรนั้น เรียนว่าเราดำเนินการไว้หมดแล้ว และมีการวางแผนเชื่อมต่อโลจิสติกส์ฮับ ที่สถานีนาทา และก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งจะเชื่อมเส้นทางไปยังนิคมอุตสาหกรรม ที่ จ.อุดรธานี ด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อให้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังระบุว่า กระทรวงคมนาคม มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับการคานาคมขนส่ง เช่น ระบบ M-Flow นำร่องแล้วที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เพิ่มความรวดเร็วในการเดินทางผ่านด่าน ซึ่งเตรียมขยายผลไปยังโครงการของการทางพิเศษ และมอเตอร์เวย์ที่ต่างๆ ต่อไป
อีกทั้ง การนำระบบ AI มาใช้ในท่าอากาศยาน เช่น มีระบบ Auto Bag-drop ระบบ One ID แอปพลิเคชัน “สวัสดี” ของ AOT รองรับ New Normal เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานหลัก นำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
ในตอนท้าย นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมในปี 2565 ว่า จะมีการดำเนินการทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมเม็ดเงินในการลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท มีการลงนามในสัญญาผูกพันแล้วบางส่วน ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ จะทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นตามที่คาดไว้กว่า 1-3% หรือ 4 แสนล้านบาทต่อปี