“คณิศ” เลขาฯ "สกพอ." ปักหมุดหมายขับเคลื่อนการลงทุน 5 ปี (ปี 65-69) 2.2 ล้านล้านบาทหนุนเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยปีละ 5% หวังทำได้ต่อเนื่องอีก 7 ปีไทยจะปลดล็อกกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572 ย้ำเร่งดูแล 2 ขาประคอง ศก.ปี 65 ทั้งขับเคลื่อนอุตฯ เป้าหมาย หนุนเทคโนโลยีสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อสปริงตัวแรงในปี 2566
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในงานสัมมนา 2022 Next Economic Chapter: New Challenges And Opportunities เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ จัดโดย IBusiness และ บมจ.กรุงไทย ว่า ปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ระดับเฉลี่ย 4% จากปี 2564 แม้ว่าจะคงไม่อาจกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ซึ่งคาดจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 12-15 เดือน โดย สกพอ.มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะ 2 ใน 5 ปี (ปี 2565-69) ให้ได้ 2.2 ล้านล้านบาทหรือเฉลี่ย 6 แสนล้านบาทต่อปีที่จะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ปีละ 5% และหากทำได้สัดส่วนนี้ติดต่อกันอีก 7 ปีก็จะทำให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572 ตามเป้าหมายที่วางไว้
“เราผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วจากเดิมปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.2% และกลับมาเป็นบวกปี 2564 ราว 1.6% และปีนี้เรายังโตต่อเป็น 4% เพราะคาดว่าโอมิครอนจะไม่รุนแรง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจเรายังไม่ได้กลับไปสู่ที่เก่าต้องใช้เวลาอีก 12-15 เดือน ดังนั้นเรามีเวลาหนึ่งปีที่จะเตรียมตัวและก้าวไปข้างหน้าเพื่อรับผลจริงในปี 2566 ที่เศรษฐกิจไทยจะพลิกกลับไปสู่จุดเดิมก่อนเกิดโควิดหรือดีกว่าเดิม” นายคณิศกล่าว
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นลักษณะตัว K (K-Shaped) โดยปี 2565 เศรษฐกิจที่โตเฉลี่ย 4% แต่ประกอบด้วย K ขาขึ้นที่มาจากการส่งออกที่คาดว่าจะโต 5-6% กลุ่มธุรกิจและคนที่เกี่ยวกับกลุ่มส่งออกนี้ยังไปได้ดี แต่ K ขาล่างคือคนมีรายได้นอกภาคการเกษตร เช่น อาชีพอิสระ ลูกจ้าง ฯลฯ ยังคงติดลบไม่ฟื้นตัวนัก สะท้อนจากหนี้ภาคครัวเรือนส่วนนี้รัฐจึงยังคงต้องเข้าไปดูแล ท่องเที่ยวเองก็ยังไม่ฟื้นโดยประเมินไว้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 6 ล้านคนจากก่อนโควิดมีสูงถึง 40 ล้านคน ดังนั้นระยะต่อไปจึงต้องเร่งดำเนินการดูแลใน 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ
1. K ขาบนยังคงต้องเร่งการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5 S-Curve ได้แก่ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรม BCG และดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและบริการใหม่ๆ และการเตรียมบุคลากรให้พร้อมรองรับ 2. K ขาล่าง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ต้องพยุงเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง แก้หนี้ครัวเรือนและการอัดสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจกลับมา กับอีกส่วนคือการสร้างต่อ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้โดยเฉพาะ E-Commerce การฝึกอบรมทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ เกษตรตรงตลาดและใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน และเขตพัฒนาพิเศษใหม่ๆ
“เราทำอะไรไปค่อนข้างเยอะ 4 ปีที่ผ่านมาเราสร้างการลงทุนไปแล้ว 1.6 ล้านล้านบาทเร็วกว่าแผนเดิม 1 ปี โดย 6 แสนล้านบาทเป็นโครงสร้างพื้นฐานเดิม เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุด ฯลฯ อีก 1 ล้านล้านบาทการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเราใช้งบรัฐแค่ 5% หรือแค่ 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เรามุ่งเน้นที่จะดูแลระบบอัตโนมัติทั้งโรงงาน โรงพยาบาล นำเอา 5G ไปบริหารจัดการลดต้นทุนในโรงงานได้ถึง 30% รวมไปถึงการพัฒนา DATA Business ฯลฯ” เหล่านี้ถือเป็นการเตรียมตัวที่รอโอกาสที่จะสปริงตัวกลับไปเติบโต โดยเรามั่นใจว่าเงินลงทุนที่ตั้งเป้า 5 ปี 2.2 ล้านล้านบาทจะทำได้ไม่ยาก” นายคณิศกล่าว
ทั้งนี้ ผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาไม่ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากนักหากเทียบกับเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวที่สูงกว่า โดยสะท้อนจากตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขอกับรัฐบาลไว้คือ ต้องการให้รัฐได้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนาม และมาเลเซีย ฯลฯ เนื่องจากยังมีความร่วมมือหลายด้านที่เพื่อนบ้านได้เปรียบ เช่น การทำข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP FTA กับอียู ฯลฯ