xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” ลั่น ศก.ไทยปี 65 โต 4% กางมาตรการระยะสั้น-ยาวพร้อมรับมือทุกวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุพัฒนพงษ์” เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังโตได้ต่อเนื่อง มองเป้า 3-4% แม้ระยะสั้นอาจเผชิญความท้าทายทั้งค่าครองชีพที่สูง หนี้ครัวเรือน และวิกฤตยูเครน-รัสเซีย แต่เตรียมมาตรการรับมือไว้หมดแล้วโดยเฉพาะโควิด-19 ตุนวัคซีนไว้รับมือ 90 ล้านโดส ยันดูแลราคาพลังงานต่อเนื่อง ขณะที่ระยะยาวพร้อมดันอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ควบคู่กับอุตฯ Soft Power เพื่อคนรุ่นใหม่พลิกโฉม ศก.ไทยสู่เวทีโลกเพื่อให้ไทยกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานและกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แสดงปาฐกถาและกล่าวเปิดงานสัมมนา 2022 Next Economic Chapter : New Challenges And Opportunities เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ จัดโดย IBusiness และบมจ.กรุงไทย ผ่านระบบออนไลน์ ว่า ปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังคงมีสัญญาณบวกที่ยังเติบโตต่อเนื่องโดยคาดว่าจะโตได้ในระดับประมาณ 3-4% จากปีก่อน ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง แม้ว่าระยะสั้นจะมีความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่รัฐได้เตรียมมาตรการที่จะดูแลไว้แล้ว รวมไปถึงระยะยาวที่จะปรับโฉมอุตสาหกรรมไปสู่เป้าหมายใหม่เพื่อผ่านวิกฤตโควิด-19 และพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

สำหรับระยะสั้น สิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้คือการสำรองวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ถึง 90 ล้านโดส เพราะที่ผ่านมาได้รับบทเรียนช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นมีวัคซีนใหม่ๆ แต่การระบาดเร็วขึ้นทำให้การแก้ไขมีข้อจำกัด ขณะเดียวกันโควิด-19 ขณะนี้เองก็ยังไม่จบ รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ รวมไปถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบทั้งการที่ธปท.และคลังได้ร่วมกันปรับโครงสร้างหนี้ที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่ปีนี้นายกรัฐมนตรีให้เป็นปีแห่งการแก้ไขที่ได้เร่งดำเนินการและดูแลอย่างใกล้ชิด
 
ขณะเดียวกัน กรณีปัญหาเงินเฟ้อ ที่สินค้าอุปโภคและบริโภคแพงได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ราคาสินค้าที่สูงรัฐบาลได้เร่งตรวจและเข้มงวดการกักตุน ทำให้ราคาสินค้าหลายรายการปรับลดลงแล้ว ส่วนราคาพลังงานนั้นต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยภายนอกซึ่งราคาตลาดโลกที่สูงมาจากก่อนหน้าที่โควิด-19 ระบาดทำให้ความต้องการลดต่ำส่งผลต่อการผลิตที่ลดลง เมื่อเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นทำให้ความต้องการสูงขึ้นมากแต่การผลิตไม่ทันแต่รัฐบาลได้ดูแลด้วยการตรึงราคาพลังงานอยู่ในระดับที่จะรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้คงอยู่ได้ และยังต้องดูความท้าทายระยะสั้นที่จะแทรกเข้าอย่างกรณีความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากบานปลายรัฐบาลก็ยังคงจะมีนโยบายดูแลเพื่อประคับประคองการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป

“ราคาพลังงานไทยแพงสุดในโลกยืนยันว่าไม่จริงเพราะได้มีการดูแลไม่ให้สูงเกินไปกว่าประเทศในอาเซียนด้วยกันเองที่มีสถานะการเป็นประเทศนำเข้าพลังงานเป็นหลัก เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียนก็ไม่ได้สูง ส่วนความท้าทายสั้นๆ จำเป็นต้องดูใกล้ชิด หวังว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีแทรกเข้ามารัสเซีย- ยูเครนไม่บานปลาย หากจะบานปลายรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะมีนโยบายประคับประคองการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป ตรึงราคาพลังงานให้อยู่ในระดับรักษาความสามารถการแข่งขันของไทยให้ได้ต่อไป ถ้าไม่บานปลายเชื่อมั่นว่าไทยจะฟื้นตัวได้ตามลำดับ หลายๆ เรื่องที่เอื้ออำนวยในการส่งเสริมเศรษฐกิจจะเริ่มขึ้น ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทยอยเสร็จปีนี้มีรถไฟ 2 สายแล้วเสร็จ การจะส่งเสริมการค้าโอกาสธุรกิจมีมากขึ้น” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับระยะยาว รัฐบาลมีความตั้งใจส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ โดยจะดึงเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนโดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า และอยากให้เอกชนมีบทบาทมากใน 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทั้งยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่จะตอบโจทย์ลดภาวะโลกร้อน ควบคู่ไปกับการส่งเสริม Soft Power ที่จะเป็นอุตสาหกรรมของคนรุ่นใหม่ เช่น ภาพยนต์ บันเทิง เกม ฯลฯ ที่จะนำมาสู่ Creative Economy หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
 
“หลายอุตสาหกรรมเรามีฐานที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เช่น ยานยนต์ เราต้องรักษาไว้ด้วยการเพิ่มอีวีเข้ามาเพื่อต่อยอดและรักษาความเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค อุตสาหกรรมการแพทย์เราเองก็เข้มแข็ง อิเล็กทรอนิกส์เราก็วางพื้นฐาน 5G รองรับซึ่งกำลังทาบทามผู้นำอุตสาหกรรมเหล่านี้มาลงทุนเพิ่ม เราเป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่แต่ก็มีหลายคนคู่แข่ง ถ้าเรายกระดับไปสู่ต้นน้ำโดยเฉพาะชิปก็จะเป็นโอกาสระยะยาว ท่องเที่ยวไทยเราพึ่งพาคิดเป็น 20% ของจีดีพีและสัดส่วน 11% เป็นการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราจึงทำโครงการวีซ่าระยะยาว มาอยู่อาศัยเน้นคนมีฐานะรายได้พอสมควร เป็นคนเก่งมีความสามารถ ดึงดูดและจะใช้เป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้เป้า 1 ล้านคนเพื่อสร้างรายได้ที่หายไป ทั้งหมดที่รัฐบาลวางไว้ ดังนั้นที่ผ่านมาเราได้ผ่านความยากลำบากมาด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้นวันนี้จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น