นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สภาพัฒน์อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศที่เพิ่มขึ้น เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การแก้ปัญหาทำได้ตรงจุด ซึ่งจะไม่ใช้มาตรการพักชำระหนี้ เพราะจะทำให้เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard)
"มาตรการลักษณะนี้ (การพักชำระหนี้) จะทำให้เกิด moral hazard ในระบบ ดังนั้นมาตรการที่จะออกมาต้องดูในแง่ของการพุ่งเป้าให้ตรงกลุ่มมากขึ้น ตอนนี้กำลังหารือกันอยู่ น่าจะได้ข้อสรุปที่อยากให้เร็ว แต่ต้องเคลียร์ข้อมูลก่อน ถึงค่อยมาดูว่ามาตรการที่จะออกไปจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มไหน อย่างไร" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
ล่าสุด ข้อมูลสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 89.3% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 78.8% ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันยังไม่อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่เป็นการกู้มาเพื่อประกอบอาชีพ เป็นหนี้ที่สะสมความมั่งคั่ง ขณะที่หนี้เพื่อการบริโภคนั้นยังมีจำนวนไม่มากนัก
"สภาพัฒน์คงเป็นห่วงว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่มีหนี้ มีรายได้เพียงพอเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และชำระหนี้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นดินพอกหางหมู" นายพรชัย กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/64 สัดส่วนหนี้จีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ 14.34 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นการเติบโตจากฐานต่ำในปีก่อน โดยในจำนวนนี้คิดเป็นหนี้ครัวเรือนเพื่อสะสมทรัพย์สิน และประกอบอาชีพมากกว่า 65% ขณะที่หนี้เสีย (NPL) ยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.8-2.9% ต่อ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ 34.5% หนี้ที่เกิดจากการซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์ 12.4% หนี้ที่ก่อเพื่อการประกอบอาชีพโดยตรงเกือบ 20%