สกพอ.จับมือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยกระดับการศึกษา และการผลิตบุคลากรในพื้นที่อีอีซี นำร่องพัฒนาครูรุ่นใหม่ด้านภาษาต่างประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรรองรับการลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะมีความต้องการกว่า 4.7 แสนคน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติด้านการศึกษาระหว่าง สกพอ. กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยมี 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย
ทั้งนี้ การที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และมีทักษะชั้นสูงเข้ามารองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพราะถ้าหากขาดคนที่มีความสามารถเข้ามาขับเคลื่อน ก็เป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ดังนั้น สกพอ.จึงได้ศึกษาและวิจัยความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี พบว่าประมาณการความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ในระยะเวลา 5 ปี คือปี 2562-2566 มีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะจำนวนถึง 475,668 อัตรา ซึ่งเป็นความต้องการในสายอาชีพ 53% และสายสามัญอีก 47% ซึ่ง สกพอ.ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร และดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
นอกจากนี้ เพื่อให้การผลิตบุคลากรให้มีปริมาณ และคุณภาพตามความต้องการของภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซี สกพอ.จึงได้นำแนวคิด อีอีซี โมเดล มาเป็นแกนหลักในการผลิตบุคลากร โดยได้ประสานและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายในการผลิตและพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงตามความต้องการ และปรับเข้าสู่ Demand Driven ซึ่งการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซี โมเดลนี้ นอกจากจะทำให้ธุรกิจก้าวกระโดดจากอุตสาหกรรม 2.5 เป็นอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว ยังมีส่วนสนับสนุนให้ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายในการฝึกทักษะบุคลากรลงเฉลี่ยได้ถึง 38% เนื่องจากแรงงานที่จบการศึกษาออกมาแล้วสามารถทำงานได้จริง
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ สกพอ. และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอีอีซี เสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทักษะบุคลากรในเขตพื้นที่ โดยร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนและเพิ่มเติมองค์ความรู้รายวิชาภาษาต่างประเทศให้แก่ครู อีกทั้งยังมุ่งส่งต่อองค์ความรู้และพัฒนาครูให้เป็นครูต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลออกไปในวงกว้างทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อสร้างเครือข่ายครูในพื้นที่ สร้างเสริมประสบการณ์วิชาชีพแก่ครูทุกท่าน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาและพัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการและได้มาตรฐานสากล
รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ จะนำองค์ความรู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มาพัฒนา เปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้ครูซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ในพื้นที่อีอีซี พร้อมแนะนำเทคนิค วิธีการ รวมทั้งเครื่องมือทั้งหมดที่มีสู่การพัฒนาพื้นที่ เพื่อจะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้อีอีซีขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยระยะเริ่มแรกของการพัฒนา กระบวนการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้แก่ครู จะใช้หลักการฝึกฝนผู้สอน (Train The Trainer) เพื่อขยายผลไปสู่นักเรียน ซึ่งเป็นไปตามหลักสมรรถนะของครูผู้สอนในศตวรรษที่ 21 ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อเป็นเครื่องมือเปิดประตูของประเทศสู่โลกแห่งการสื่อสาร และการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคต
ปัจจุบัน สกพอ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนิน “โครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการโรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาต่างประเทศทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในเขตพื้นที่อีอีซี (การใช้ภาษาอังกฤษ-จีน) ในระดับมัธยมศึกษา และโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับการจัดการให้การศึกษาสู่ระดับสากลในการใช้ภาษาต่างประเทศ” โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การร่วมมือกันจัดการศึกษาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่ครู โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง จำนวน 8 โรงเรียน โดยมีครูภาษาอังกฤษและภาษาจีนเข้าร่วมโครงการ 35 คน และนักเรียนเข้าร่วมโครงการอีก 150 คน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักเรียนชั้นมัธยมต้นที่ได้รับการขยายผลจากการดำเนินโครงการในครั้งนี้อีกกว่า 8,000 คน นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565-2566 นี้จะขยายผลการดำเนินโครงการไปยังโรงเรียนในพื้นที่อีอีซีอีกจำนวน 30 และ 90 โรงเรียน ตามลำดับ