บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2564 มูลค่า 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อน พบ 5 กลุ่มหลักหนุนขับเคลื่อนทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ อุตฯ การแพทย์ ปิโตรเคมี เกษตรและแปรรูปอาหาร ยานยนต์ ขณะที่การลงทุนใน EEC มูลค่าทะลุ 2.2 แสนล้าน จับตา BCG มาแรง คาดปี 2565 มีลุ้นโตกว่าปีนี้
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนโครงการรวม 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูงจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต คาดว่าปี 2565 โอกาสตัวเลขการขอรับส่งเสริมฯ จะมีมากกว่าปีนี้ได้หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่รุนแรง
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 340,490 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 104,490 ล้านบาท 2) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าลงทุน 62,170 ล้านบาท 3) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่าลงทุน 48,410 ล้านบาท 4) อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่าลงทุน 47,660 ล้านบาท 5) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าลงทุน 24,570 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 220,500 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 74,550 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 33,210 ล้านบาท
ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,732 ล้านบาท จำนวน 180 โครงการ และตั้งแต่ปี 2558-2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพมีมูลค่ารวม 99,709 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 999 โครงการ
สำหรับกิจการในกลุ่ม BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 123% จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ เพิ่มขึ้น 63% และตั้งแต่ปี 2558-2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 163% โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท