บอร์ดบีโอไอไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร ผลักดันไทยก้าวสู่ Bio Hub ในภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมศูนย์การค้าผลผลิตทางการเกษตรระบบดิจิทัล ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทบทวนการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร และเปิดประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ กิจการศูนย์การค้าผลิตผลทางการเกษตรระบบดิจิทัล และกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และทบทวนสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ Bio Hub ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการแข่งขันสูงมากในตลาดโลก
เปิด 2 ประเภทกิจการใหม่
บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ กิจการศูนย์การค้าผลิตผลทางการเกษตรระบบดิจิทัล เพื่อเป็นการยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ต้องมีแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสนับสนุนให้เกิดระบบการติดตามและปรับปรุงควบคุมคุณภาพผลผลิต โดยจะต้องจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรในรูปแบบ B2B (Business-to-Business) เท่านั้น
รวมทั้งได้เปิดประเภทกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รองรับสถานประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตร เกษตรแปรรูป อาหาร รวมทั้งบริการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร โดยจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ/ทดสอบ สถาบันฝึกอบรมหรือพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรหรืออาหาร ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขพื้นที่นิคมหรือเขตไม่น้อยกว่า 200 ไร่ และห้ามตั้งในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ทั้งนี้ ทั้งสองประเภทกิจการใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี
ทบทวนมาตรการเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย
ทั้งนี้ บีโอไอได้ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ครอบคลุมถึงยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้สมุนไพรเป็นวัตถุดิบ เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยหากเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดขั้นสูง จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี
“ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันไทยนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพียง 1,800 ชนิด จากที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นชนิด จึงหวังว่าการปรับปรุงประเภทกิจการครั้งนี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกระดับสมุนไพรไทยเพื่อต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีความปลอดภัย มีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นางสาวดวงใจกล่าว