กรมรางแจงอำนาจตามร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางไม่ทับซ้อนหน่วยงานปฏิบัติ ส่วนเวนคืนให้ทำแทนเอกชนที่มาลงทุน สหภาพฯ เดินหน้าค้านเต็มสูบ ชี้เนื้อหาส่อแปรรูปในอนาคต และไม่เคยรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามรัฐธรรมนูญ
จากกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) คัดค้านและมีข้อสังเกตถึงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. .... ในหลายประเด็น เช่น กำหนดบทบาทให้กรมราง มีหน้าที่เกินขอบเขตจากการกำกับดูแล (regulator) และทับซ้อนกับหน่วยงานปฏิบัติ เช่น ให้มีอำนาจและสิทธิในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการสำรวจเส้นทางและนำเสนอโครงการ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล และซ้ำซ้อนกับอำนาจของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มี พ.ร.บ.ของหน่วยงานกำหนดไว้แล้วนั้น
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ชี้แจงว่า ตามร่างมาตรา 9 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจในอนุมาตรา (3) เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ เป็นการเสนอแนะแนวทางในเชิงนโยบาย ให้หน่วยงานที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางปฏิบัติตาม
ส่วนประเด็น ให้อำนาจกรมรางทับซ้อนกับหน่วยงานปฏิบัตินั้น ชี้แจงว่า ในการเสนอโครงการของคณะกรรมการนโยบายขนส่งทางรางต่อ ครม.เมื่อร่างพ.ร.บ.ประกาศใช้บังคับแล้ว หากเป็นโครงการที่มอบหมายให้หน่วยงานรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางราง เช่น รฟม.รฟท. และ กทม. ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งหรือกฎหมายเฉพาะของหน่วยนั้นๆ ให้อำนาจหน้าที่ในการเวนคืนหรือจัดหาที่ดินให้ได้มาเพื่อดำเนินการจัดทำโครงการได้อยู่แล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.รางฯ ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของทั้งสามหน่วยงานแต่อย่างใด
@ยันให้อำนาจกรมรางเวนคืนได้แทนในโครงการที่เอกชนดำเนินการ
ตามเจตนารมณ์ที่ร่างมาตรา 25 ไว้ ในกรณีโครงการที่คณะกรรมการนโยบายขนส่งทางรางเสนอ ครม.และพิจารณาเห็นชอบให้เอกชนดำเนินการ ซึ่งเอกชนไม่สามารถใช้อำนาจรัฐในการเวนคืนหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในการดำเนินโครงการ กรมรางควรจะมีหน้าที่และอำนาจในการเวนคืนหรือให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้การดำเนินโครงการของเอกชนที่เข้ามาดำเนินโครงการ ตามนโยบายขนส่งทางรางสำเร็จลุล่วงไป เช่นเดียวกับกรมการขนส่งทางบก ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งทางบก ก็มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อนำมาดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานให้สำเร็จลุล่วง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562
นายพิเชษฐกล่าวว่า กรมรางก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการขนส่งทางราง อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย ไม่ได้มีเจตนาเพื่อที่จะเข้าไปดำเนินกิจการขนส่งทางรางแต่อย่างใด เมื่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางประกาศใช้บังคับแล้ว และตามบทเฉพาะกาล บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่การรถไฟฯ และ รฟม.มีอยู่ตามกฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้
@สหภาพรถไฟออกแถลงการณ์เดินหน้าค้าน พ.ร.บ.ขนส่งทางราง
วันที่ 21 ก.พ. 2565 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....ว่า เนื้อหาในร่างกฎหมายขัดต่อหลักการและเหตุผล ไม่ได้ทำหน้าที่แค่การกำกับดูแล และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อย่างทั่วถึงและรอบด้าน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่องของการตรากฎหมายในมาตรา 77
ทั้งนี้ จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ...โดยมีหลักการและเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ “เพื่อให้มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุม กำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่นๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์”
ด้วยหลักการและเหตุผล ในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายขนส่งทางราง และกรมการขนส่งทางรางที่มีฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator ) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล กำหนดนโยบายเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง ด้านความปลอดภัย บริการ กำหนดอัตราค่าบริการ เป็นต้น
สร.รฟท.จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยละเอียดแล้วพบว่า ในเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติในหลายมาตราที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการและเหตุผล อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายการขนส่งทางรางยังมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดำเนินการตามกฎหมายด้วยการจัดหาหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้กรมรางกลายเป็นหน่วยงานปฏิบัติการ (Operator) เสียเอง รวมทั้งเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาเป็นการโต้แย้งกับบรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่หน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะในการประกอบกิจการขนส่งทางราง เช่น รฟท. และ รฟม. และยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนการดำเนินการโดยรัฐให้เป็นเอกชน ซึ่งก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคต