รฟม.ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
วันนี้ (19 ก.พ.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงประเด็นที่ รฟม. ถูกอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้
1. การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ
1.1 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้เห็นชอบประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ซึ่งรวมถึงวิธีการคัดเลือกผู้ชนะโดยพิจารณาซองเทคนิคและซองการลงทุนและผลตอบแทนแยกจากกัน ซึ่ง รฟม. ได้ออกประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคม 2563 โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย
1.2 รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับปรุงวิธีการประเมิน โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการที่จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด มาเป็นวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคควบคู่ด้านผลตอบแทนและการลงทุนด้วยเหตุผล ดังนี้
กรณีปัญหาและผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ผ่านมา เช่น กรณีน้ำใต้ดินรั่วซึมเข้าสถานีสามยอด ขณะก่อสร้างสถานีใต้ดินสายสีน้ำเงิน ความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนประชาชนโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งล้วนมีปัญหามาจากการออกแบบและเทคนิคก่อสร้างทั้งสิ้น
สายสีส้มส่วนตะวันตก ต้องก่อสร้างลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น (ห้วยขวาง ประชาสงเคราะห์) ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ (ประตูน้ำ เพชรบุรีตัดใหม่) ย่านเมืองเก่า (ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง โรงละครแห่งชาติ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รพ.ศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี) นอกจากนี้ ยังผ่านพื้นที่ซึ่งมีโบราณสถานและอาคารอนุรักษ์จำนวนมาก ซึ่งหากประสบปัญหาจากเทคนิคก่อสร้างที่ไม่ดีพอ จะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
ในการประเมินดังกล่าว จะตัดสินผู้ชนะโดยพิจารณาคะแนน ทั้งซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) และซองที่ 3 (ด้านการลงทุนและผลตอบแทน) รวมเข้าด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่การลดทอนความสำคัญด้านเทคนิคลง ในทางกลับกัน ยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักความสำคัญของด้านเทคนิค ทำให้ได้ผู้ชนะที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคและเสนอวิธีการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุดต่อสาธารณชน อันจะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ รฟม. ได้ออกประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
2. การดำเนินงานคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายหลังจากการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
2.1 ในช่วงเดือนเมษายน 2564 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการลาออกจากการเป็นกรรมการ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการ รฟม. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทดแทน
2.2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้โดยอนุโลม สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งโครงการสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวด้วย
2.3 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2564
2.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สคร. ได้มีหนังสือแจ้ง รฟม. ว่า ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่เริ่มขั้นตอนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาฯ ทั้งนี้ สคร. อยู่ระหว่างการประสานงานกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อแจ้งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ให้ รฟม. ต่อไป
2.5 ภายหลังจากที่ สคร. มีประกาศเรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 รฟม. จึงได้ออกประกาศ รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำความคิดเห็นมาใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565
3.แผนการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
เนื่องจากพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ไม่ได้กำหนดแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไว้ สคร. จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการจัดทำประกาศเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและทำความตกลงกับองค์กรภาคเอกชนเพื่อเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการคัดเลือกเอกชน รฟม. จึงได้ปรับแผนการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นดังนี้
กิจกรรม
แผนดำเนินงาน
· คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน มี.ค.- ส.ค. 65
· ก่อสร้างโครงการ ก.ย. 65
· เปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออก ส.ค. 68
· เปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันตก ธ.ค. 70
4. คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกทำละเมิดเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท นั้น ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง
5. มติคณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบจ้างผู้ว่าการ รฟม. คณะกรรมการ รฟม. ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบจ้างนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ เป็นผู้ว่าการ รฟม. ต่อ หลังจากครบกำหนดตามสัญญาจ้างปัจจุบัน เป็นไปตามมาตรา 8 จัตวา วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ในการดำเนินงานที่ผ่านมา รฟม. ได้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานที่รัฐจะได้รับโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศไทยต่อไป