xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองกลางยกฟ้อง BTS ยื่นร้อง รฟม.แก้ TOR ประมูลสายสีส้ม มิชอบด้วยกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องปม BTS เรียกค่าเสียหาย รฟม. 5 แสนบาท แก้ไข TOR ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยาย บางขุนนนท์-มีนบุรี ชี้ แม้เปลี่ยนเงื่อนไขประมูลไม่ชอบ แต่ไม่เป็นเหตุให้ BTS เสียหาย ด้าน “สุรพงษ์” เผยเตรียมฟ้อง กทม.อีกทวงหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว 20,000 ล้านบาท

วันนี้ (9 ก.พ.) ศาลปกครองกลางพิพากษา ยกฟ้องในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชน โดยศาลให้เหตุผลว่าการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมภายใน 9 วัน โดยมิได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการแก้ไขตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนรัฐและเอกชน ดังนั้นการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมิน ซองที่ 2 คือข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนมารวมกัน ในสัดส่วน 30:70 คะแนน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อาจถือว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กระทำการละเมิดต่อ BTS เพราะค่าจ้างที่ปรึกษาด้านเทคนิคและค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ BTS อ้างจำนวน 5 แสนบาท นั้นเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการค้าตามปกติ ไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกจนเป็นเหตุให้ BTS ได้รับความเสียหาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดความเสียหายดังกล่าวให้แก่ BTS ได้ จึงพิพากษายกฟ้อง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวเผยภายหลังรับฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ศาลได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคณะกรรมการคัดเลือกฯจะต้องกลับไปดำเนินให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ BTS มีความเสียหายเกิดขึ้น ศาลจึงได้พิพากษายกฟ้องในส่วนของค่าเสียหาย เพราะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ทาง BTS ใช้ในการยื่นประมูลอยู่แล้ว ส่วนจะยื่นอุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ต้องกลับไปหารือกับฝ่ายกฎหมายอีกครั้ง เพราะศาลให้เวลายื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคดีที่เกี่ยวข้องโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังอยู่ในการพิจารณาของศาลรวม 3 คดี ประกอบด้วย 1. ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม 2. คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา และ 3. คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

ส่วนกรณีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เราเป็นบริษัทเอกชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งตอนนี้มีสัญญาว่าจ้างให้เดินรถอยู่ เราได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างครบถ้วนมาโดยตลอด แม้ตอนนี้ยังไม่ได้รับการชำระเงินค่าจ้าง เรื่องของสัมปทานเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหาอย่างดีที่สุด หนี้มูลค่า 30,000 ล้านบาท ที่เกิดขึ้น มาจากการให้บริการจริงกับประชาชนทั้งการเดินรถและการติดตั้งระบบ การต่อสัมปทานเป็นเรื่องที่รัฐพยายามจะแก้ปัญหาหนี้ที่ กทม.รับภาระค่าก่อสร้างโยธามาจาก รฟม. มูลค่า 60,000 ล้านบาท และเรื่องค่าโดยสารที่จะให้เก็บค่าโดยสาร 65 บาท ตลอดสาย จากหลักเกณฑ์เดิม คือ 158 บาทตลอดสาย ซึ่งรัฐพยายามแก้ไขปัญหาโดยเจรจากับทาง BTS การต่อสัญญาสัมปทานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในเรื่องของการเดินรถ ทางเราก็อยากให้รัฐบาลจัดการช่วยเหลือในเรื่องของหนี้สินที่ยังค้างอยู่ ตอนนี้มูลค่าเกือบ 40,000 ล้านบาทแล้ว เป็นภาระใหญ่สำหรับบริษัท เราก็ไม่อยากให้เกิดผลกระทบกับประชาชน โดยพยายามเดินรถอย่างเต็มที่

“เราเป็นเอกชนจะเป็นอย่างไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร จะให้เราเป็นผู้รับจ้างเดินรถต่อไปก็ไม่มีปัญหา ขอแค่ให้ชำระค่าจ้าง ส่วนที่จะใช้สัมปทานมาให้ BTS ช่วยลดภาระของประชาชน ภาระตรงนี้ค่อนข้างเยอะ มูลค่าหลายแสนล้าน ไม่ใช่แค่ 30,000-40,000 ล้านบาทอย่างที่พูดกันทั้งเรื่องหนี้สินที่ กทม.แบกรับแทน รฟม.ภาวะขาดทุนที่เกิดจากการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย เป็นเวลา 10 ปี รวมทั้งภาระดอกเบี้ยเงินกู้ และ BTS ยังต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี เป็นแสนล้านบาท โดยเราได้มีการทวงถามหนี้สินหลายครั้ง และเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ได้ยื่นฟ้องทวงหนี้ กทม.ในส่วนของค่าดำเนินการเดินรถ 12,000 ล้านบาท ขณะนี้เรากำลังเตรียมฟ้องทวงหนี้ในส่วนของค่าติดตั้งระบบเดินรถอีก 20,000 ล้านบาท”


กำลังโหลดความคิดเห็น