“คมนาคม” เร่งสรรหาผู้อำนวยการ "สถาบันวิจัยฯ ระบบราง" ใน เม.ย. 65 เดินหน้าทำยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการเทคโนโลยี และวิจัย EV ผลักดันสนับสนุนการผลิตขบวนรถ ชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์ระบบรางภายในประเทศทดแทนการนำเข้า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ครั้งที่ 3 วันที่ 24 ก.พ. 2565 ว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ กระทรวงคมนาคมได้สนองตอบนโยบายดังกล่าวโดยเร่งพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 เพื่อยกระดับขีดความสามารถระบบรางของไทย เสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
โดยสถาบันวิจัยฯ มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง พัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง โดยมีเป้าหมายเร่งด่วน คือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ (Local Content) ได้ตามนโยบาย Thai First รวมทั้งการวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ EV มาใช้ในประเทศไทย พร้อมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเรียบร้อยแล้ว โดยมีการแต่งตั้ง รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม เป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ราย ได้แก่ 1. นายถาวร ชลัษเฐียร 2. ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย 3. ผศ.พิศิษฐ์ แสง-ชูโต 4. นายสมโภชน์ อาหุนัย และ 5 ดร.สุเมธ องกิตติกุล
นอกจากนี้ คณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางยังประกอบด้วยคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้แทนกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีระบบราง โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลสถาบันวิจัยฯ ให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการของสถาบันวิจัยฯ เป็นไปตามกฎหมาย และวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยฯ
หลังจากนี้คณะกรรมการสถาบันวิจัยฯ จะดำเนินการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565
ทั้งนี้ นโยบายของกระทรวงคมนาคมได้มีการผลักดันให้สถาบันวิจัยฯ สร้างความร่วมมือร่วมกับสถาบันการศึกษา ผู้ให้บริการด้านระบบราง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ซึ่งสถาบันวิจัยฯ ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง” เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 กับ ขร. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน รวม 83 หน่วยงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยฯ และสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตขบวนรถ ชิ้นส่วนและวัสดุอุปกรณ์ระบบรางภายในประเทศทดแทนการนำเข้า
ทั้งนี้ การดำเนินการของสถาบันวิจัยฯ จะแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ผ่านบันทึกความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งทางรางกับประเทศภาคีที่มีความก้าวหน้าด้านระบบราง เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาช่วยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อให้สามารถผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้สถาบันวิจัยฯ จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการดำเนินการแต่ละเรื่องที่มีความเร่งด่วนให้ชัดเจน รวมถึงเร่งรัดการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการสถาบันวิจัยฯ พิจารณาโครงสร้างองค์กรของสถาบันวิจัยฯ ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านระบบราง
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ ขร.และสถาบันวิจัยฯ แสวงหาความร่วมมือกับสถาบันระดับอาชีวศึกษาในการประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในระดับของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถาบันวิจัยฯ ผ่านสื่อในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง