xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโมเดล PPP รถไฟฟ้าสีเทา 2.78 หมื่นล้านบาทฟังเสียงนักลงทุน คาดเสนอ ครม.ปี 66 เปิดบริการปี 73 ค่าโดยสาร 16-42 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กางโมเดล PPP รถไฟฟ้าสายสีเทา(วัชรพล-ทองหล่อ) 16.3 กม. มูลค่า 2.78 หมื่นล้านบาท ฟังเสียงนักลงทุน เผย EIRR สูงถึง 19.75% แนวเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 3 สาย กทม.คาดสรุปเสนอบอร์ด PPP ปี 66 ก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 73 กำหนดค่าแรกเข้า 16 บาท ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท

วันที่ 17 มี.ค. 2565 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding Seminar) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากนักลงทุนภาคเอกชน สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนา

นายอานนท์ ศักดิ์บูรณาเพชร วิศวกรที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ จะเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) โดยเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับรามอินทรา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก ผ่านถนนอยู่เย็น ถนนสุคนธสวัสดิ์ ข้ามถนนเกษตรนวมินทร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีคลองลำเจียก ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช และผ่านถนนพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะยกข้ามรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี และเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีทองหล่อที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสุขุมวิท) ระยะทางรวมทั้งหมด 16.3 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานี 15 สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 1 แห่ง บริเวณสถานีคลองลำเจียก เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางไป-กลับ ประมาณ 62 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8,000-30,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

โดยประเมินมูลค่าลงทุนโครงการจำนวน 27,899 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนและชดเชยการใช้ที่ดิน 2,051.6 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 23,119.9 ล้านบาท (งานระบบรถไฟฟ้า 5,276.4 ล้านบาท ค่าจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า (Rolling Stocks) 3,520 ล้านบาท ) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2,727.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. PPP Net Cost รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้จัดซื้อขบวนรถและก่อสร้างงานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา และลงทุนอื่นๆ ที่จำเป็น โดยรัฐให้สิทธิ์แก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ

2. PPP Gross Cost รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้จัดซื้อขบวนรถและก่อสร้างงานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้และนำส่งให้รัฐ และรัฐจะจ่ายผลตอบแทนให้แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง

3. PPP Modified Gross Cost รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด รวมถึงเป็นผู้จัดซื้อขบวนรถและก่อสร้างงานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้และนำส่งให้รัฐ และรัฐจะจ่ายผลตอบแทนให้แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาณร่วมลงทุน และเอกชนจะได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

โดยผลการวิเคราะห์การศึกษาผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ หรือ EIRR 19.75% ถือว่าสูงและคุ้มค่าการลงทุน ทั้งนี้ การวิเคราะห์ทางการเงินรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีสมมติฐาน 3 รูปแบบ คือ 1. ระยะเวลาโครงการ 34 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี) 2. ระยะเวลาโครงการ 40 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี ดำเนินงานและบำรุงรักษา 40 ปี) 3. ระยะเวลาโครงการ 46 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี ดำเนินงานและบำรุงรักษา 46 ปี)

ทั้งนี้ การศึกษาจัดทำรายงาน PPP มีระยะเวลา 200 วัน งบว่าจ้าง 20 ล้านบาท โดยจะจัดประชุมรับฟังความเห็นนักลงทุนอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 2565 จากนั้นจะสรุปรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เสนอ กทม.พิจารณา และนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยและ สคร.เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP และ ครม.อนุมัติโครงการภายในปี 2566 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนปี 2567-2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ระหว่างปี 2569-2572 เปิดให้บริการได้ในปี 2573

โดยประเมินอัตราค่าโดยสาร ค่าแรกเข้า 16 บาท บวกเพิ่ม 2.7 บาท/กม. หรือเริ่มต้น 16 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท ตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardisation ซึ่งคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดบริการประมาณ 97,000 คน-เที่ยว/วัน รายได้ 2.66 ล้านบาท/วัน และปี 2577 เพิ่มเป็น 161,000 คน-เที่ยว/วัน รายได้ 3.88 ล้านบาท/วัน ปี 2582 เพิ่มเป็น 175,000 คน-เที่ยว/วัน รายได้ 5.56 ล้านบาท/วัน และปี 2622 เพิ่มเป็น370,000 คน-เที่ยว/วัน รายได้ 35.87 ล้านบาท/วัน












กำลังโหลดความคิดเห็น